การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์โดยรวมได้รับผลกระทบอย่างมาก ตั้งแต่การประกาศยกเลิกงานมอเตอร์โชว์ระดับโลก ผู้ผลิตรถยนต์หลายรายต้องหยุดการผลิตชั่วคราว ทิศทางการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ รวมทั้งในส่วนของเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าที่ประเทศไทยวางเป้าเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในระยะยาว มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากไม่เพียงแต่เฉพาะตลาดในประเทศไทย แต่จะมีผลกระทบในเชิงลูกโซ่จากทั่วโลกในทิศทางเดียวกัน
คุณกฤษฎา อุตตโมทย์ อุปนายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยฝ่ายส่งเสริมการใช้ กล่าวถึงปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการหดตัวในภาคธุรกิจว่า “ปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบคือ 1) ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ที่มีผลต่อยอดการขายและการผลิตของผู้ผลิตรถยนต์ จากการศึกษาพบว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่ทำการสำรวจในรอบ 21 ปี 6 เดือน โดยดัชนีลดลงอย่างมากจากระดับ 64.8 ใน เดือนกุมภาพันธ์ เป็น 50.3 ในเดือนมีนาคม ทั้งนี้วัดจากสเกล 0-200
2) เม็ดเงินลงทุนที่เกี่ยวข้อง กับการพัฒนาและการวิจัยด้านยานยนต์มีแนวโน้มที่จะปรับลดลงเพราะงบประมาณการใช้จ่ายถูกจัดสรรไปสู่ส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะด้านการปฏิบัติการที่จำเป็น
3)อาจเกิดการลดขนาดของการลงทุนในตลาดที่ไม่ใช่ตลาดเป้าหมายเร็วขึ้น
4) การหาวัตถุดิบจากผู้ผลิตชิ้นส่วนต่างๆ อาจทำได้ยากขึ้น ส่งผลต่อผู้ผลิต รถยนต์ที่ไม่สามารถหาอะไหล่หรือชิ้นส่วนสำคัญได้
5) ความเป็นไปได้ในการปรับปรุงโครงสร้างของระบบการจัดจำหน่าย เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อย่างการแพร่ระบาด ของเชื้อ Covid-19
ส่วนการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์โดยรวม โดยเฉพาะในส่วนของยานยนต์ไฟฟ้า จำเป็นต้องอาศัยมาตรการจากทางภาครัฐเข้ามาสนับสนุน ซึ่งเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ครั้งที่ 1 โดยมีการกำหนดเป้าหมายให้ภายในปี 2573 ประเทศไทยจะต้องมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าร้อยละ 30 ของปริมาณการผลิตทั้งหมด เพราะรัฐบาลเล็งเห็นว่ายานยนต์ไฟฟ้าจะช่วยลดการปล่อยมลพิษและมีส่วนช่วยลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 และยังช่วยประหยัดพลังงานได้อีกด้วย ซึ่งทางคณะกรรมการได้มีข้อเสนอจัด ทำแผนส่งเสริมการใช้รถยนต์ที่ปล่อยมลพิษต่ำเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าและกระตุ้นให้ผู้ประกอบการหันมาลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้อง
ส่วนผลกระทบต่อการลงทุน เพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ จากเหตุการณ์การแพร่ระบาดนี้ มีหลายปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องหันมาปรับเปลี่ยนระบบต่างๆ เพื่อให้สามารถตอบรับกับสถานการณ์อันไม่คาดคิดนี้ได้ ตัวอย่างเช่น การวางแผนการผลิต ในรอบการผลิตที่จำนวนล๊อตลดลงและมีระยะเวลาในการประกอบที่สั้นลงเช่นกัน และต้องลดต้นทุนการผลิตลงให้ได้มากที่สุด อีกทั้ง ปัจจัยในเรื่องของการวางแผนการผลิต เพื่อให้สามารถปรับระดับสต็อกสินค้าได้อย่างทันเหตุการณ์มากขึ้น จะส่งผลให้การผลิตมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
คุณกฤษฎา มองว่า “สำหรับในประเทศไทยนั้น ถือเป็นยักษ์ใหญ่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาค เรามีฝีมือแรงงานทักษะความชำนาญ ความละเอียด และมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย หากเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน ดังนั้นประเทศไทยจึงควรเร่งส่งเสริมวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้การต่อยอดเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็เป็นจุดที่น่าสนใจในยุคนี้ เพื่อกระตุ้นตลาดให้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง เทคโนโลยีของรถยนต์ไฟฟ้ายังมีทิศทางที่น่าจะเติบโตได้เร็วกว่าที่คิด โดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาที่ไม่สูงมาก ทางสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยเอง ได้นำเสนอ 8 ข้อเสนอแนะแนวทางการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าไทย กับหลายหน่วยงานของภาครัฐเมื่อปี 2562 และได้รับการตอบรับที่ดีในการนำข้อเสนอดังกล่าวไปปรับใช้ในแนวทางการส่งเสริม
อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องที่ค่อนข้างแน่ชัดว่าอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและส่วนประกอบสำหรับรถยนต์ระบบสันดาปภายในจะได้รับผลกระทบโดยตรงในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้านี้ เนื่องจากเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าล้วนใช้ชิ้นส่วนและส่วนประกอบสำคัญที่เปลี่ยนไปจากรถยนต์ระบบสันดาปภายใน โดยเฉพาะตลาดชิ้นส่วนประกอบ (OEM) อย่างระบบส่งกำลังและเครื่องยนต์จะถูกทดแทน ด้วยระบบมอเตอร์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่แรงดันสูง และตลาดชิ้นส่วนอะไหล่ทดแทนสำหรับการบำรุงรักษาจะได้รับผลกระทบจากการบำรุงรักษาที่มีรอบการเข้ารับบริการน้อยลง เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้ามีชิ้นส่วนรถยนต์ที่เคลื่อนไหว (Moving Parts) น้อยกว่า รถยนต์ระบบสันดาปภายใน
อย่างไรก็ตามชิ้นส่วนบางประเภทที่สามารถใช้ร่วมกันได้สำหรับ รถยนต์ทั้งสองประเภท เช่น โครงสร้างตัวถังรถ (body& chasis) และ ระบบช่วงล่าง (Suspension) จะได้รับผลกระทบน้อยกว่าชิ้นส่วนและส่วนประกอบประเภทอื่น การเปลี่ยนแปลงนี้ จะมีผลกระทบ ต่อทั้งระบบห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมรถยนต์ไปจนถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาครัฐตระหนักถึงแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมในครั้งนี้ จึงเริ่มมีการออกนโยบายในการส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการออกมาตรการสนับสนุนโดยทาง BOI หรือการขยายพื้นที่ให้บริการสถานีชาร์จไฟฟ้าต่างๆ อย่างไร ก็ตาม เรายังต้องพยายามองหาแนวทางในการสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้สามารถแข่งขันได้กับประเทศอื่นๆในอาเซียน โดยหนึ่งในนั้นคือแนวทางการสนับสนุนผู้ใช้เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนอันจะเป็นตัวขับเคลื่อนระบบห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมตามมาอย่างที่เราได้เคยทำสำเร็จมาแล้วในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์สันดาปภายในที่ผ่านมา”
คุณกฤษฎา ยังทิ้งท้ายเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในการซื้อรถยนต์ที่จะเปลี่ยนไปอีกว่า “ถึงแม้ ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะปรับตัวลงก็ตาม มีหลายท่านอาจสงสัยว่า รถยนต์ไฟฟ้าอาจไม่ได้เป็นที่น่าสนใจมากในช่วงเวลานี้ แต่ในระยะยาวนั้น ผมเชื่อมั่นว่าผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (BEV) หรือรถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) เป็นกลุ่มผู้บริโภคใหม่ที่ให้ความสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม การมีส่วนช่วยลดมลภาวะ และคนกลุ่มนี้จริงๆ แล้วเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในอนาคตนั้น ผู้ใช้รถยนต์พลังงานสะอาดเหล่านี้ จะมีส่วนในการสร้างวัฒนธรรมรูปแบบการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แล้วจะทำให้คนอื่นๆได้รับรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อร่วมกันลดมลภาวะในทิศทางเดียวกัน โดยการห้นมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (BEV) หรือรถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) อันเป็นเทคโนโลยีสำหรับอนาคตอันใกล้นี้อย่างแท้จริง”