fbpx

ซัดเต็มแม็กซ์ Haval Jolion กรุงเทพ-เลย กินน้ำมันเท่าไหร่ ?

เมื่อไม่นานมานี้ทีมงาน Carvariety ได้มีโอกาสพา SUV Hybrid สุดล้ำแห่งยุคอย่าง Haval Jolion Ultra ไปใช้งานจริงในเส้นทาง กรุงเทพ-เลย พร้อมทั้งทดสอบอัตราสิ้นเปลืองของตัวรถว่าจริงๆ แล้วรถคันนี้มี “อัตราบริโภคน้ำมัน” ที่เยอะอย่างที่หลายๆ คนว่า จริงหรือไม่? แต่ทั้งนี้ต้องขอออกตัวไว้ก่อนว่า ขับจริงแบบคนใช้รถ ไม่ได้เน้นประหยัด! แต่เน้นทดสอบสมรรถนะ !!

ก่อนอื่น เราต้องขอขอบคุณศูนย์บริการ GWM Amorn Ratchada ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ Haval และ Ora ครบวงจรย่านรัชดาภิเษก-รัชโยธิน ที่ให้ยืมรถ Haval Jolion มาใช้ในการทดสอบในครั้งนี้

ช่วงล่าง พวงมาลัย คมและไว้ใจได้ แต่แอบกระด้างที่ความเร็วต่ำ

เริ่มกันที่ระบบช่วงล่างและระบบบังคับเลี้ยวของ Jolion ซึ่งต้องบอกกันตรงๆ ว่าทำได้ดีกว่าที่คิด ซึ่งหากเปรียบเทียบกับรุ่นพี่อย่าง Haval H6 แล้วจะพบว่าช่วงล่างมีความเฟิร์มและกระชับมากกว่า H6 รวมถึงพวงมาลัยที่สามารถปรับความหนืดได้ถึง 3 โหมดได้แก่ เบา, สบาย และสปอร์ต ซึ่งทั้ง 3 โหมดมีน้ำหนักความหนืดของพวงมาลัยที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน และให้การควบคุมที่แม่นยำ ซึ่งจากการทดสอบในการขับทางตรงข้ามจังหวัดและเส้นทางคดเคี้ยวบนภูเขา พวงมาลัยของรถคันนี้สามารถไว้วางใจได้ในทุกสภาพเส้นทาง

แต่ยังมีจุดที่ขอติเล็กๆ นั่นก็คือ เมื่อใช้ความเร็วต่ำจะพบว่า ช่วงล่างมีความตึงตังอยู่เล็กน้อย (อาการคล้ายๆ Haval H6) และเมื่อใช้ความเร็วสูงในสภาพถนนที่ไม่ค่อยดีนักจะพบแรงสะเทือนจากพื้นถนน (รอยต่อถนน) ส่งมาถึงผู้ขับขี่ได้อย่างชัดเจน

 

ระบบฟังก์ชันช่วยเหลือการขับขี่และระบบความปลอดภัยจัดเต็ม ใช้งานได้จริง แต่มีบางจังหวะที่ยังต้องแก้ไข

ในรถ Haval Joilion มาพร้อมกับระบบช่วยเหลือการขับขี่ใส่มาให้แบบจัดเต็มที่สุดในรถยนต์คลาสเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น

  • ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน (ACC)
  • ระบบช่วยเตือนเมื่อเสี่ยงต่อการชนด้านหน้า (FCW)
  • ระบบเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติบนทางตรงและทางแยก (AEBI)
  • ระบบช่วยออกตัวบนทางชัน และลงทางลาดชัน (HSA / HDC)
  • ระบบลดกำลังเครื่องยนต์เพื่อช่วยเบรก (BOS)
  • ระบบช่วยเบรกฉุกเฉินที่ความเร็วต่ำ (LSEB)
  • ระบบช่วยเลี่ยงการเข้าใกล้รถใหญ่จากด้านข้าง (WDS)
  • ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน ในภาวะฉุกเฉิน (ELK)
  • ระบบช่วยเตือนเมื่อรถออกนอกเลน (LDW)
  • ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน (LKA)
  • ระบบช่วยรักษาระยะให้อยู่กลางเลน (LCK)

จากที่เราได้ลองใช้ระบบช่วยเหลือการขับขี่ของ Haval Jolion ในการเดินทางไกลพบว่า ตัวระบบสามารถช่วยเหลือให้ผู้ขับขี่รู้สึกสบายและลดความเหนื่อยล้าในการขับรถทางไกลลงได้มากพอสมควร ซึ่งระบบหลักๆ ที่เราได้ใช้งานบ่อยๆ จะเป็นระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน (ACC) ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน (LKA) และระบบช่วยรักษาระยะให้อยู่กลางเลน (LCK) ซึ่งเมื่อเปิดใช้งานแล้วตัวรถจะรักษาความเร็วและรักษาระยะห่างที่เหมาะสมจากรถคันหน้า รวมถึงช่วยประคองรถให้อยู่กึ่งกลางเลน ทำให้ผู้ขับขี่สามารถยกเท้าออกจากคันเร่ง และสามารถปล่อยมือจากพวงมาลัยได้ในช่วงเวลาหนึ่ง (แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ขับต้องมีสติและพร้อมที่จะเข้าควบคุมรถทันทีเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน)

แต่สิ่งที่ยังคงติดอยู่ในใจของผู้ทดสอบนั่นก็คือ ในบางกรณีระบบช่วยเหลือการขับขี่อาจทำงาน “ฝืนธรรมชาติ” ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราเปิดระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน (ACC) ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน (LKA) และระบบช่วยรักษาระยะให้อยู่กลางเลน (LCK) แล้วปล่อยให้รถขับเคลื่อนไปเรื่อยๆ และเมื่อเจอทางโค้ง ตัวระบบที่ “ลดความเร็วลงอย่างรวดเร็ว” ก่อนที่จะเข้าโค้ง ซึ่งในบางครั้งอาจทำให้รถยนต์ที่ขับตามหลังมานั้นชนท้ายเอาได้ รวมถึงเมื่อเปิดระบบช่วยรักษารถให้อยู่ในเลน (LKA) แล้วผู้ขับต้องการเปลี่ยนเลน (โดยไม่เปิดไฟเลี้ยว) ตัวระบบจะพยายามดึงพวงมาลัยกลับทำให้รถอาจเสียอาการเมื่อต้องการเปลี่ยนเลน ซึ่งหากเปรียบเทียบกับระบบช่วยเหลือการขับขี่ของ Ford หรือ BMW ซึ่งก็พยายามดึงพวงมาลัยกลับเหมือนกัน แต่เมื่อผู้ขับฝืนหักพวงมาลัยไปต่อตัวระบบจะเข้าใจว่าผู้ขับต้องการที่จะเปลี่ยนเลนและจะตัดระบบนี้ออกไปชั่วขณะ (แต่ถ้าเปิดไฟเลี้ยวจะไม่มีปัญหาในส่วนนี้)

 

หน้าจอกลางมีขนาดใหญ่ 12.3 นิ้ว แต่หน่วงและทำงานไม่สมูท !!

สำหรับหน้าจอกลางของ Haval Jolion จะมีขนาดที่ 12.3 นิ้ว รองรับการเชื่อมต่อ Apple Car Play (แบบเสียบสาย) จากการทดลองใช้งานจริง ตัวระบบมีอาการหน่วงและช้าอยู่พอสมควร โดยเฉพาะเมื่อใช้ Google Map ในการนำทางจะพบว่าแผนที่ที่แสดงบนหน้าจอ จะมีความหน่วงอยู่ที่ราวๆ 20-30 วินาที ซึ่งทำให้ในบางครั้งการนำทางอาจทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร

 

เครื่องยนต์เบนซิน 1.5 ลิตร พร้อมระบบไฮบริด ให้อัตราเร่งที่น่าประทับใจ

มาถึงอีกหนึ่งไฮไลต์ของรถคันนี้นั่นก็คือ เครื่องยนต์เบนซิน 1.5 ลิตร พร้อมระบบไฮบริด ระบบเกียร์ DHT ให้พละกำลังสูงสุดที่ 190 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 375 นิวตัน-เมตร ซึ่งจากการใช้งานจริงแล้วต้องบอกเลยว่ากำลังของเครื่องยนต์ตัวนี้ “เหลือเฟือ” สำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวันและเดินทางออกต่างจังหวัด โดยเราได้ทดสอบอัตราเร่ง 0-100 ได้ตัวเลขอยู่ที่ราวๆ 9.8 – 10.2 วินาที และทำความเร็วสูงสุดได้ที่ 157 กิโลเมตร/ชั่วโมง เรียกได้ว่าเร่งแซงสบายใจหายห่วง โดยตัวรถจะมีโหมดการขับขี่ให้เลือกทั้งหมด 4 โหมดดังนี้

  • โหมดมาตรฐาน
  • โหมด Sport
  • โหมด ECO
  • โหมดสภาพถนนลื่น

โดยในแต่ละโหมดจะมีความแต่งต่างกันอย่างชัดเจน โดยในโหมด Eco จะมีการหน่วงคันเร่งอย่างชัดเจน เพื่อควบคุมอัตราสิ้นเปลืองให้ประหยัดน้ำมันมากที่สุด ในขณะที่โหมด Eco จะเน้นไปที่การใช้งานทั่วไป ตัวรถให้อัตราเร่งที่กำลังดี (แต่แอบหน่วงเวลาเหยียบคันเร่ง) และโหมดสปอร์ตที่ปรับจูนให้คันเร่งตอบสนองได้อย่างว่องไว

 

เวลาเร่งขึ้นเขาหรือใช้ความเร็วสูง มีเสียงกวนใจจากมอเตอร์ไฟฟ้า !!

อีกหนึ่งสิ่งที่เราพบเจอนั่นก็คือ เมื่อเร่งเครื่องเพื่อขึ้นเขา หรือใช้ความเร็วสูงในการเดินทาง ในบางครั้งจะได้ยินเสียง “หึ่ง” ออกมาจากมอเตอร์ไฟฟ้า แต่ถ้าหากใช้ความเร็วเดินทางปกติ จะไม่มีเสียงกวนใจผู้ขับแต่อย่างใด

 

อัตราสิ้นเปลืองของ Haval Jolion กินน้ำมัน จริงไหม ?

ปิดท้ายกันที่ประเด็นที่หลายๆ คนยังคงสงสัยนั่นก็คือ Jolion กินน้ำมันจริงหรือไม่ ซึ่งจากที่เราทดสอบในเส้นทาง กรุงเทพ-เลย และใช้ความเร็วเดินทางที่สูงอยู่พอสมควร มีเส้นทางขึ้นเขาช่วงจังหวัดเพชรบูรณ์-เลย รวมไปถึงการเดินทางท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ เช่น อุทยานแห่งชาติภูเรือ, พระธาตุศรีสองรัก, เชียงคาน, แก่งคุดคู้, วัดป่าห้วยลาด, วนอุทยานภูผาล้อม เป็นต้น ซึ่งเราได้ข้อมูลการทดสอบอัตราสิ้นเปลืองดังต่อไปนี้

  • ระยะทั้งหมด : 1,247.6 กิโลเมตร 
  • น้ำมันที่ใช้ทดสอบ : Gasohol E20
  • ปริมาณน้ำมันเติมกลับ : 112.8 ลิตร
  • ค่าใช้จ่ายในการเติมน้ำมันทั้งหมด : 3,970 บาท (ราคาน้ำมัน E20 ณ วันที่ทดสอบโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 35.21 บาท)
  • อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย (คำนวณจากจำนวนลิตรที่เติมกลับจริง) : 11.06 กิโลเมตร/ลิตร
  • อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย (จากหน้าจอมาตรวัด) : 12.3 กิโลเมตร/ลิตร
  • ค่าน้ำมันต่อ 1 กิโลเมตร (คำนวณจากจำนวนลิตรที่เติมกลับจริง) : 3.18 บาท/กิโลเมตร
  • ค่าน้ำมันต่อ 1 กิโลเมตร (คำนวณจากหน้าจอมาตรวัด) : 2.79 บาท/กิโลเมตร

หมายเหตุ

* ก่อนนำรถไปทำสอบ มีการนำรถไปใช้วิ่งในกรุงเทพด้วยระยะทางราวๆ 30 กิโลเมตร ซึ่งอาจทำให้ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองคลาดเคลื่อนได้

*  ความเร็วที่ใช้ทดสอบ สูงกว่าความเร็วเฉลี่ยที่ผู้คนส่วนมากใช้เดินทาง ซึ่งหากใช้ความเร็วในเกณฑ์ปกติ อัตราสิ้นเปลืองน่าจะออกมาดีมากกว่านี้

หากพูดกันแบบไม่อวย รถคันนี้มีอัตราบริโภคน้ำมันที่มากพอสมควร แต่สิ่งที่จะได้กลับมานั่นก็คือ อัตราเร่งที่เร้าใจ (ดีที่สุดในรถยนต์คลาสเดียวกัน) รวมถึงระบบออปชันช่วยเหลือการขับขี่ที่จัดเต็มที่สุดในคลาส การตกแต่งภายในห้องโดยสารที่หรูหราพอตัว พร้อมด้วยหลังคา Sunroof และที่สำคัญ Haval Jolion รุ่น Ultra ซึ่งเป็นรุ่นท๊อปที่เรานำมาทดสอบในครั้งนี้ มีราคาขายเพียงแค่ 999,000 บาทเท่านั้น เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนที่กำลังมองหารถ Hybrid SUV ในราคาจับต้องได้


รับชมข่าวสารอื่นๆของ GWM คลิกที่นี่

รับชมคลิปวีดีโอทดสอบรถของเรา คลิกที่นี

บทความที่น่าสนใจ

พิสูจน์ ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์ เทพแห่ง ออฟโรด

idiot

ทดลองขับ เจ้าป่า! New Subaru Forester 2023 EyeSight 4.0 SUV สายลุย!

Nopkung

ลอง EMG 6 ปลั๊ก-อิน ไฮบริด 228 แรงม้า สุดยอดเทคโนโลยีของ MG

idiot

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy