ในปัจจุบัน “รถยนต์ไฟฟ้า” กำลังเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากในประเทศไทย โดยจากสถิติยอดขายรถยนต์ภายในงาน Motor Expo 2022 พบว่ายอดขายรถยนต์สันดาปหรือรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์นั้นมียอดขายลดลงมากถึง 30% รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าที่มียอดขายเพิ่มมากขึ้นจากปีก่อนอย่างก้าวกระโดด ทำให้เห็นว่าคนไทยให้ความสนใจและอยากเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้ากันไม่น้อยเลยทีเดียว
ข้อดีหลักๆที่คนใช้รถยนต์ไฟฟ้ามักจะนึกถึงข้อแรกเลยนั่นก็คือ ค่าใช้จ่ายในการเติมพลังงาน หากเปรียบเทียบค่าไฟฟ้ากับค่าน้ำมันจะพบว่า รถยนต์ไฟฟ้าจะมีค่าใช้จ่ายในการเติมพลังงานต่ำกว่า 2-3 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับรถยนต์สันดาป แต่หากคุณกำลังคิดจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้า คุณควรรู้ถึง “ค่าใช้จ่ายแฝง” ที่สูงกว่ารถยนต์สันดาป ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายในส่วนไหนบ้าง เราไปดูกัน
1.ค่าประกันอุบัติเหตุรถยนต์
เริ่มกันที่ “ค่าประกันอุบัติเหตุ” ของรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในช่วงปีที่ผ่านมาได้มีข่าวคราวการเคลมชุดแบตเตอรี่จากการเกิดอุบัติเหตุหลายครั้ง ซึ่งมักจะมีตัวเลขที่สูงมากๆ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้บริษัทประกันภัยปรับขึ้นเบี้ยประกันในอนาคต และจากสถิติในประเทศจีนพบว่าค่าประกันรถยนต์หากเปรียบเทียบระหว่างรถยนต์ไฟฟ้ากับรถยนต์สันดาปแล้วจะมีราคาที่สูงกว่าอยู่ที่ราวๆ 20% – 30%
อ่านบทความ : เบี้ยประกัน “รถยนต์ไฟฟ้า” ในประเทศจีน ปรับตัวสูงขึ้นราวๆ 20% เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงที่มากกว่า คลิก !!
2.ค่าเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้าน (ติดตั้ง Wall Charge)
หากคุณซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาแล้ว หากคุณอาศัยอยู่ที่บ้านที่สามารถติดตั้งชุด Wall Charge ได้แล้วล่ะก็ใครจะไม่อยากได้ เพราะการชาร์จไฟแบบ AC จะช่วยถนอมแบตเตอรี่ของคุณและยังมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าการไปชาร์จไฟที่สถานีชาร์จ DC ตามสถานีให้บริการอีกด้วย ซึ่งโดยส่วนมากแล้วแบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์ “ส่วนมาก” มักจะมีโปรโมชั่นแถมชุด Wall Charge ให้อยู่แล้ว แต่ก็ยังมีแบรนด์รถยนต์บางค่ายมีให้เพียงแค่ส่วนลดหรือไม่แถม Wall Charge มาให้เลย ทำให้เราต้องเสียเงินซื้อ Wall Charge และอุปกรณ์ส่วนควบ รวมถึงค่าติดตั้ง นอกจากนี้หากบ้านของคุณเป็นบ้านรุ่นเก่าที่ใช้ไฟฟ้าแบบ 1 Phase ในบางกรณีคุณอาจต้องเดินระบบไฟใหม่รวมถึงต้องขอไฟฟ้า 3 Phase ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพิ่มขึ้น
3.ค่าเปลี่ยนแบตเตอรี่ (หากแบตเสื่อมหรือได้รับความเสียหาย)
แบตเตอรี่ ถือเป็นชิ้นส่วนหนึ่งมีมูลค่าสูงมากในรถยนต์ไฟฟ้า โดยจากข่าวที่รถยนต์ไฟฟ้า Ora Good Cat เกิดการเฉี่ยวชนทำให้แบตเตอรี่เสียหาย และในทีแรกต้องเสียค่าซ่อมเป็นจำนวนเงินกว่า 600,000 บาท (ตอนหลังทางผู้ผลิตแจ้งว่าสามารถเปลี่ยนเฉพาะฝาครอบได้) ซึ่งหากตัวแบตได้รับเสียหายอย่างหนัก หรือแบตเสื่อมหากใช้งานมานาน คุณจะมีค่าใช้ในส่วนนี้เพิ่มขึ้นมา แต่อย่าพึ่งตกใจไป เพราะราคาแบตเตอรี่จะค่อยๆต่ำลงในอนาคต ด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่สูงขึ้นนั่นเอง (แต่ยังไงก็ไม่น่าจะต่ำกว่า 30% ของราคารถ)
4.หากเดินทางไกล แบตอาจหมดเร็ว ต้องเสียเวลาชาร์จบ่อย
ส่วนมากคนที่ใช้รถมักจะคิดว่า หากใช้รถเดินทางไกล จะทำให้รถประหยัดพลังงานและไม่จำเป็นต้องชาร์จไฟบ่อยๆ แต่ความเป็นจริงแล้วรถไฟฟ้าหากวิ่งทางไกลและใช้ความเร็วสูงจะมีอัตราบริโภคไฟฟ้าที่สูงจนน่าตกใจ ซึ่งอาจทำให้คุณต้องแวะสถานีชาร์จบ่อยครั้ง ทำให้ต้องเสียเวลาจอดรถชาร์จไฟฟ้าบ่อยมากยิ่งขึ้น
5.ราคาขายต่อ
ปิดท้ายกันที่ “ราคาขายต่อ” ของรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งในขณะนี้ยังไม่ค่อยมีรถไฟฟ้ามือสอง ออกมาในท้องตลาดมากนัก (รถส่วนมากยังใหม่ ไม่ค่อยมีคนลงขาย) แต่หากเปรียบเทียบระหว่างรถยนต์ไฮบริด กับรถยนต์สันดาปทั่วไปแล้วจะพบว่า รถยนต์ไฮบริดมือสองราคามักจะ ตก มากกว่ารถยนต์สันดาป เนื่องจากตัวแบตเตอรี่ที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว และหากต้องเปลี่ยนก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงอยู่พอสมควร และเมื่อเปรียบเทียบกับรถยนต์ไฟฟ้าที่มีขนาดแบตเตอรี่ที่ใหญ่กว่ามากแล้วนั้น จุดนี้ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้ราคารถไฟฟ้ามือสองในอนาคตน่าจะตกลงมากพอสมควร
เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับบทความที่เรานำมาฝากกันในวันนี้ ในความเป็นจริงแล้วส่วนตัวแอดมินเป็นคนที่ชื่นชอบรถยนต์ไฟฟ้า เพราะด้วยความเงียบ อัตราเร่ง และยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้มากพอสมควร แต่ค่าใช้จ่ายแฝงเหล่านี้ก็เป็นปัจจัยที่ควรนำมาประกอบการพิจารณาในการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าคันใหม่