ประเทศไทยถือได้ว่ามีอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงเป็นอันดับต้นๆของโลก และในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครก็เจอกับปัญหา รถติด เป็นอันดับต้นๆของโลกเช่นเดียวกัน โดย WHO หรือ องค์การอนามัยโลก ได้ออกมาเปิดเผยว่า ประเทศไทยมี “ถนน” ที่อันตรายที่สุดในอาเซียน โดยจากสถิติของกระทรวงคมนาคมระบุว่า ในช่วงปี 2563-2564 ประเทศไทยเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนรวมทั้งสิ้น 32,190 ครั้ง
แต่น่าแปลกว่าทำไมประเทศไทย ซึ่งมีปัญหาการจราจรติดขัดในเมืองหลวงรวมถึงหัวเมืองใหญ่ๆ ถึงได้มีสถิติทางอุบัติเหตุสูงถึงขนาดนี้ ทั้งที่ตามหลักแล้วเมื่อรถติด รถยนต์จะสามารถเคลื่อนที่ได้ช้าลง ซึ่งก็น่าจะมีความปลอดภันมากกว่า วันนี้เราจะพาทุกท่านไปไขข้อข้องใจกันครับ
“รถติด” ไม่ช่วยลดอุบัติเหตุ แต่กลับทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
มีงานวิจัยออกมาจาก mdpi.com และซึ่งเป็นงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับการเกิดอุบัติเหตุในเมืองใหญ่ โดยได้มีการศึกษาใน 10 เมืองหลวงและเมืองใหญ่ในทวีปอเมริกาใต้และประเทศเม็กซิโก พบว่า เมืองที่มีปัญหารถติดสูงนั้นมีโอกาสที่ผู้ใช้รถใช้ถนนจะเกิดอุบัติเหตุหรือเสียชีวิตได้มากกว่าเมืองที่มีความหน้าแน่นของการจราจรที่น้อยกว่า
เมื่อรถติดเกินกว่า 30% (เมื่อเทียบกับเวลาที่รถไม่ติด) อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจะเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว
มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งจากมหาวิทยาลัยบาร์เซโลน่า ประเทศสเปน diposit.ub.edu ได้ทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างรถติดในเมืองต่างๆ 129 เมืองในยุโรป ว่ามีความสัมพันธ์อย่างไรกับอัตราการตายที่เกิดจากอุบัติเหตุทางถนน พบว่า เมื่อเกิดการจราจรติดขัดเกินกว่า 30% (เมื่อเทียบกับเวลาที่จราจรไม่ติดขัด) อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจะเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ตามกราฟที่เห็นด้านล่างนี้
หากการจราจรติดขัด จะทำให้ผู้ขับขี่ขับรถเร็วขึ้นเมื่อพ้นช่วงติดขัด
แน่นอนว่าถ้าคุณรีบไปไหนสักที่หนึ่ง แล้วเจอการจราจรที่ติดขัด แน่นอนว่าหากคุณขับรถพ้นจุดที่รถติดสุดๆมาแล้ว เชื่อว่าสิ่งที่คนส่วนใหญ่จะทำคือ การขับรถให้เร็วขึ้นกว่าปกติ เพื่อที่จะไปถึงที่หมายได้ทันกำหนดการ รวมถึงอาจมีอารมณ์หงุดหงิดหรือโมโหเมื่อเจอรถติด ทำให้ประสิทธิภาพในการตัดสินใจและควบคุมรถอาจไม่ดีเท่าที่ควร แต่กลับกันหากสภาพการจราจรไม่ติดขัด ผู้ขับก็ไม่จำเป็นต้องทำความเร็วเพิ่มขึ้น เพียงใช้ความเร็วปกติก็สามารถไปถึงที่หมายตามกำหนดการได้แล้ว
รถยนต์เปิดช่องทางพิเศษ และเลือกที่จะไปปาดเข้าทางด้านหน้า
เรียกได้ว่าเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยบนท้องถนนเมืองไทย เมื่อเจอการจราจรที่ติดขัด ผู้ใช้รถหลายๆคนที่เห็นแก่ตัว มักจะเลือกใช้วิธีเปิดเลนส์ใหม่เพื่อแซงรถคันที่ต่อแถวอยู่ขึ้นไปข้างหน้า และปาดกลับเข้าเลนส์เดิม ทำให้เกิดปัญหารถติดสะสมมากขึ้นไปอีก ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้อาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุมากยิ่งขึ้น ในขณะที่ต้องขับรถปาดกลับเข้ามาในช่องทางเดิมนั่นเอง
เมื่อรถติด มอเตอร์ไซต์มักจะขับขี่แทรกกลางช่องทางเดินรถ หรือเลือกขับขี่บนทางเท้า
นี่ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่คนกรุงเทพเจอกันเป็นประจำจนชินตา สำหรับพฤติกรรมของผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์แย่ๆ(บางคน) ที่มักจะขับขี่แทรกกลางช่องทางเดินรถในขณะที่รถติด และยังคงใช้ความเร็วสูง รวมถึงยังมีการหลบเลี่ยงรถติด ด้วยการขับขี่ขึ้นฟุตบาทหรือทางเท้า จนทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง
เมื่อระบบขนส่งสาธารณะไม่ดีมากพอ ผู้คนจึงเลือกใช้รถยนต์ส่วนตัวมากกว่า และนี่คือสาเหตุของ “รถติด”
เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่ผู้คนนำรถยนต์ส่วนตัวมาขับขี่บนท้องถนนนั้น สาเหตุหนึ่งซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญนั่นก็คือ ระบบขนส่งสาธารณะที่ยังไม่ดีพอ ไม่ทั่วถึง และมีราคาที่สูงเกินไป จึงทำให้หลายๆคนเลือกที่จะใช้รถยนต์ส่วนตัวในการเดินทาง มากกว่าใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับเมือง โตเกียว ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศญี่ปุ่นที่มีผู้คนอาศัยอยู่ราวๆ 14 ล้านคน (กรุงเทพมหานครมีประชากรอาศัยอยู่ราวๆ 11 ล้านคน) จะพบว่าสภาพการจราจรของเมืองโตเกียวนั้นดีกว่ากรุงเทพมหานคร เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่นิยมใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากกว่ารถส่วนตัวนั่นเอง
เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับบทความที่เรานำมาฝากทุกท่าน หากชื่นชอบท่านสามารถรับชมเกร็ดความรู้ยานยนต์ที่น่าสนใจอื่นๆได้ใน Link ด้านล่างนี้ครับ
รับชมเกร็ดความรู้เรื่องยานยนต์อื่นๆเพิ่มเติม คลิกที่นี่
รับชมคลิปวีดีโอทดสอบรถของเรา คลิกที่นี
ขอบคุณข้อมูลจาก : diposit.ub.edu / mdpi.com / facebook.com/decharut.sukkumnoed