fbpx

ระบบเบรก ดิสก์เบรก ดรัมเบรก เป็นอย่างไร?

ในวันนี้เรามาทำความรู้จักกับระบบเบรก ดิสก์เบรก และดรัมเบรก กันบ้างดีกว่าว่าเบรกมีกี่แบบ มีข้อดี-ข้อเสีย และระบบการทำงานของมันเป็นอย่างไร ระบบเบรกนั้นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยโดยตรง แต่คนใช้รถรู้จักและเอาใจใส่กับระบบเบรกกันน้อยมาก แทบจะไม่ให้ความสนใจกันเลยก็ว่าได้ กว่าจะมานึกถึงเบรก ก็มักจะเป็นตอนที่เกิดปัญหาขึ้นมาแล้ว

สำหรับรถยนต์รุ่นใหม่จะใช้งานระบบเบรกเยอะมาก ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพในการหยุดรถในทุกสภาพ แล้วยังอาศัยการทำงานของเบรกเป็นตัวควบคุมการทรงตัวของรถ อย่างระบบควบคุมเสถียรภาพแบบไดนามิค DSC (Dynamic Stability Control) โดยมีการเพิ่มหน้าที่ในการทำงานให้กับระบบนี้ เช่น ระบบสามารถเพิ่มแรงดันเบรก เมื่อระบบเบรกมีอาการเฟดเนื่องมาจากอุณหภูมิของเบรกอยู่ในระดับสูงมาก รวมทั้งการเพิ่มแรงดันเบรกเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ที่ต้องหยุดรถแบบกะทันหัน ระบบ Dry Braking จะทำหน้าที่อย่างอัตโนมัติทันทีที่คนขับเปิดสวิทช์ให้ปัดน้ำฝนทำงาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการหยุดรถบนพื้นเปียก ระบบควบคุมการยึดเกาะแบบไดนามิค DTC (Dynamic Traction Control) โดยระบบ DTC คือระบบ DSC อีกรูปแบบหนึ่ง ใช้สำหรับการขับออกตัวบนทางลื่น ระบบนี้จะเพิ่มแรงยืดเกาะสูงสุดให้กับรถ และได้ถูกรวมการทำงานเข้ากับระบบ DSC รุ่นใหม่ ที่จะช่วยเพิ่มสมรรถนะในการควบคุมรถ โดยประสานการทำงานทั้งเครื่องยนต์และระบบเบรกในระดับที่สูงขึ้น ระบบนี้สามารถทำงานได้อย่างนุ่มนวลในสภาพที่ยากต่อการขับขี่ ล้อขับเคลื่อนจะมีอาการหมุนฟรีอยู่บ้างเล็กน้อย ผู้ขับสามารถใช้ความเร็วได้สูงขึ้นและยังควบคุมรถที่มีอาการลื่นไถลในขณะเข้าโค้งได้เป็นอย่างดี หรือระบบควบคุมการเบรกขณะเข้าโค้ง CBC (Cornering Brake Control) เป็นต้น

รูปแบบของเบรก

โดยทั่วไปแล้วระบบเบรกที่มีติดตั้งใช้งานอยู่ในรถตอนนี้ จะมีใช้งานกันอยู่ 2 แบบด้วยกัน

  • ดรัมเบรก (Drum Brake)

เป็นระบบเบรกที่มีใช้กันมานานมากแล้ว เรียกได้ว่าตั้งแต่สมัยยุคเริ่มต้นของการถือกำเนิดพวกรถยนต์กันเลยทีเดียว แม้ดรัมเบรกจะสูญหายไปจากล้อหน้าของพวกรถเก๋งและรถกระบะ โดยเสียตำแหน่งให้กับพวกดิสก์เบรกไป แต่ล้อหลังของรถกระบะและรถเก๋งบางรุ่น ก็ยังเป็นที่อยู่ของดรัมเบรกเช่นเดิม เพราะดรัมเบรกก็ยังมีคุณสมบัติที่น่าสนใจอยู่บางประการ จึงยังไม่หายไปจากวงการ

พวกดรัมเบรกจะมีผาเบรกโค้ง ๆ (Shoe) อยู่สองอัน เรียกว่า “ฝักนำกับฝักตาม” (แบบฝักนำ 2 ก้ามก็มี แต่ปัจจุบันไม่นิยมใช้ในรถเก๋งหรือรถกระบะแล้ว) ซึ่งช่างบ้านเรานิยมเรียกกันง่าย ๆ ว่า “ก้ามปูเบรก” หรือ “ฝักเบรก” เมื่อมีการเหยียบคันเบรกเพื่อชะลอความเร็วหรือหยุดรถ ผ้าเบรกโค้ง ๆ ทั้งสองนี้จะถูกแม้ปั๊มดันให้ไปติดยันเข้ากับด้านในของฝาครอบเบรก (Drum) ซึ่งฝาครอบเบรกนี้จะยืดติดกับล้อรถอีกที โดยจะเกิดเป็นความฝืดทำให้ล้อรถชะลอความเร็วและหยุดลงได้ และถ้าหากเป็นรถรุ่นเก่าหรือพวกรถบรรทุกก็มักจะใช้ครีมเบรกทั้งสี่ล้อ ส่วนรถรุ่นใหม่หน่อยก็จะใช้ดรัมเบรกที่ล้อหลัง

ส่วนข้อดีของพวกดรัมเบรกซึ่งเหนือกว่าพวกดิสก์เบรก คือ ในด้านของความสามารถที่จะเพิ่มแรงจับประกบกับฝาครอบเบรก (Drum) ได้ด้วยตัวเองอย่างอัตโนมัติ ทำให้คนขับรถใช้แรงกดคันเหยียบเบรกไม่มาก พวกดรัมเบรกก็สามารถชะลอและหยุดรถได้แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องติดตั้งหรือพึ่งพาอาศัยหม้อลมในการเบรก อย่างพวกรถรุ่นเก่า ๆ ที่ใช้ระบบดรัมเบรกทั้ง 4 ล้อ รถพวกนี้จะไม่มีหม้อลมเบรก

ดรัมเบรกนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

1. ก้ามปูนำ 2 ก้าม

ลักษณะการจัดระบบของเบรกแบบนี้ ตัวผ้าเบรก (Shoe) ทั้ง 2 อัน จะอยู่ในรูปแบบที่เพิ่มประสิทธิภาพในการจับประกบกับฝาครอบเบรก (Drum) ได้ด้วยตัวเอง ทำให้ใช้แรงในการเหยียบเบรกน้อยลงอย่างมาก ดังนั้นระบบนี้จึงมักนิยมใช้กับล้อคู่หน้าของรถ เพราะล้อคู่หน้าจะเป็นล้อที่ต้องรับแรงมากในเวลาเบรกรถ นอกจากนี้ล้อหน้าจะเกิดอาการล็อกตาย (Wheel Locking) ได้น้อยกว่าล้อหลัง

2. ก้ามปูนำและก้ามปูตาม

การจัดระบบดรัมเบรกแบบก้ามปูนำ 2 ก้ามนั้น แม้จะดีสำหรับใช้กับล้อหน้าก็จริง แต่ไม่ค่อยเหมาะสมในการใช้กับล้อหลังซักเท่าไหร่นัก เพราะเบรกมือของรถยนต์เกือบจะทั้งหมด จะเป็นการเบรกโดยการดึงถ่างผ้าเบรกของล้อหลังออกให้ดันฝาครอบ (Drum) ด้วยแรงสปริง ถ้าเป็นการเบรกเพื่อไม่ให้รถถอยหลังลงไปตามทางลาด ดรัมเบรกแบบ 2 ก้ามปูนำจะไม่เหมาะสม เพราะเมื่อรถยนต์เกิดการถอยหลัง มันจะกลายเป็นก้ามปูตาม 2 ก้ามไปทันที ทำให้ประสิทธิภาพของการเบรกลดลง ดังนั้นล้อหลังของรถยนต์ปกติทั่วไป จึงมักนิยมใช้ดรัมเบรกระบบก้ามปูนำและก้ามปูตาม หรือบางทีก็เรียกกันว่า “ฝักนำกับฝักตาม” นั่นเอง เนื่องจากระบบดรัมเบรกแบบนี้จะมีประสิทธิภาพในการหยุดรถพอกัน ไม่ว่ารถจะแล่นเดินหน้าหรือถอยหลังก็ตาม

  • ดิสก์เบรก (Disc Brake)

ดิสก์ เบรกเป็นเบรกอีกระบบหนึ่ง ซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในตอนนี้ โดยเฉพาะพวกรถเก๋งหรือรถกระบะเรียกว่าแทบจะทั้งหมด ระบบเบรกที่ล้อหน้าก็จะใช้แบบดิสก์เบรก หรือแม้กระทั่งรถจักรยานก็เริ่มหันมาใช้ดิสก์เบรกแล้วเหมือนกัน ลักษณะการทำงานของพวกดิสก์เบรกจะแตกต่างกันกับพวกดรัมเบรก โดยที่ดรัมเบรกเมื่อเหยียบเบรกแม่ปั๊มจะดันก้ามปูผ้าเบรกให้ถ่างออกไปดันกับฝาครอบเบรก ส่วนดิสก์เบรกกลับใช้วิธีตรงข้ามคือ เมื่อต้องการจะเบรกก็จะใช้แม่ปั๊มดันผ้าเบรกไปหนีบกับจานเบรกที่มีล้อรถติดอยู่ ล้อรถก็จะชะลอความเร็วในการหมุนหรือหยุดลงได้ รถส่วนใหญ่จะนิยมใช้ดิสก์เบรกกับสองล้อหน้าเป็นปกติ แต่ถ้าเป็นพวกรถสปอร์ต รถสมรรถนะสูง หรือรถที่ต้องการความมั่นใจในการหยุดมาก ก็จะมีการติดตั้งดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ

โดยทั่วไปเท่าที่นิยมใช้กัน ดิสก์เบรกจะมีอยู่ 3 รูปแบบ

1. ดิสก์เบรกแบบก้ามปูยึดอยู่กับที่ (Fixed-Position Disc Brake)

ดิสก์เบรกแบบนี้อาจจะมีผ้าเบรกอยู่ 2 หรือ 4 แผ่น ซึ่งจะติดตั้งอยู่ภายในก้ามปูหรือคาลิเปอร์เบรก โดยมีลักษณะประกบกับจานเบรก เตรียมพร้อมที่จะบีบจานเบรกเมื่อต้องการเบรก ตัวคาลิเปอร์เบรกเป็นเพียงที่ยึดของลูกปั๊มเท่านั้น จะไม่เคลื่อนที่ขณะเบรกทำงาน

2. ดิสก์เบรกแบบก้ามปูแกว่งได้ (Swinging-Caliper Disc Brake)

หลักการทำงานแตกต่างจากแบบก้ามปูยึดอยู่กับที่ คือ เบรกแบบนี้จะมีลูกปั๊ม 1 ตัวคอยดันผ้าเบรกแผ่นหนึ่ง ส่วนผ้าเบรกอีกแผ่นจะติดอยู่กับตัวคาลิเปอร์เบรกเอง ซึ่งตัวคาลิเปอร์เบรกนี้สามารถเคลื่อนไปมาได้

3. ดิสก์เบรกแบบเคลื่อนที่ไปมาได้ (Sliding-Caliper Disc Brake)

หลักการทำงานแบบเดียวกับดิสก์เบรกแบบแกว่งได้ แต่ใช้ลูกปั๊ม 2 ตัว ซึ่งตัวแรกเป็นตัวดันผ้าเบรกโดยตรง ส่วนอีกตัวจะดันคาลิเปอร์เบรกซึ่งมีผ้าเบรกติดอยู่ด้วย ไปในทิศทางตรงกันข้ามกับลูกปั๊มตัวแรก แผ่นผ้าเบรกทั้งสองก็จะประกบจานเบรกทั้งสองด้านพร้อมกัน

ข้อดีของดิสก์เบรก

พวกรถเก๋งรุ่นเก่า ๆ มักจะใช้ดรัมเบรกทั้ง 4 ล้อ ต่อมาด้วยคุณสมบัติที่เหนือกว่าของดิสก์เบรก จึงมีการเปลี่ยนมาใช้ดิสก์เบรกที่ล้อหน้ากันจนหมดแล้ว สำหรับข้อดีของดิสก์เบรกที่พบเห็นกันได้อย่างชัดเจนมีด้วยกันอยู่ 3 ประการ ได้แก่

1. ดิสก์เบรกจะลดโอกาสที่เบรกจะเกิดอาการเฟด อันเป็นปรากฏการณ์ที่ผ้าเบรกมีประสิทธิภาพในการหยุดรถลดลงอย่างมาก คือ มีความสามารถในด้านการเสียดทานของผ้าเบรกลดลง เนื่องจากอุณหภูมิของผ้าเบรกสูงมาก เพราะความร้อนระบายไม่ทัน ซึ่งจะเกิดขึ้นมากในเบรกแบบดรัม เมื่อมีการเบรกรถที่วิ่งด้วยความเร็วสูงหรือเบรกติด ๆ กันแบบต่อเนื่อง ดังนั้นหากอาการเฟดน้อยลงก็เป็นผลทำให้การหยุดรถแน่นอนและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น สำหรับสาเหตุที่ทำให้พวกดิสก์เบรกสามารถลดอาการเฟดลงได้นั้น เป็นเพราะระบบเบรกแบบดิสก์จะมีจานเบรกแบบเปิดที่อากาศสามารถพัดผ่านได้สะดวก อากาศจึงสามารถหมุนเวียนผ่านเข้าออกภายในระบบเพื่อถ่ายเทความร้อนได้ ดังนั้นโอกาสที่ผ้าเบรกจะมีอุณหภูมิสูงจนเกิดอาการเฟดนั้นย่อมมีน้อยลง

2. เวลาที่มีการขับรถลุยน้ำพวกดรัมเบรกจะพบว่ามีอาการเบรกลื่น เบรกรถไม่ค่อยหยุด ซึ่งบางครั้งอาจรู้สึกเหมือนไม่มีเบรกเลย ทั้งนี้เป็นเพราะมีน้ำเข้าไปขังอยู่ในดุมเบรก ทำให้น้ำเข้าไปอยู่ระหว่างผ้าเบรกกับดุมเบรก จึงเกิดอาการลื่นเกิดขึ้นทำให้แรงเสียดทานลดลงไม่สามารถเบรกได้ดีเหมือนปกติ ส่วนดิสก์เบรกนั้นสามารถหมุนสลัดน้ำออกจากระบบได้ดีกว่า ดังนั้นน้ำจึงไม่ขังอยู่ในระบบเหมือนดรัมเบรก ซึ่งการที่ไม่มีน้ำขังอยู่ภายในระบบจะมีผลดี ทำให้ประสิทธิภาพในการเบรกลดลงเพียงเล็กน้อยหลังจากเมื่อรถลุยน้ำแล้ว หรือตอนลุยน้ำแม้จะมีอาการเบรกลื่นอยู่บ้างแต่ก็ไม่มากมายจนเกินไปนัก และหากมีการเบรกติด ๆ กันเบรกก็จะรีดน้ำทำให้สามารถเบรกได้

3. พวกรถที่ใช้รถแบบดรัมเบรกที่ล้อหน้า มักจะเจอปัญหาเรื่องเบรกคู่หน้าจับไม่เท่ากัน เวลาเบรกแล้วรถอาจจะกินซ้ายหรือกินขวาได้ ทำให้มีปัญหากับการใช้รถ รวมทั้งเรื่องของความปลอดภัยด้วย จึงต้องมีการปรับระยะห่างผ้าเบรกของล้อหน้าซ้ายกับหน้าขวาให้เท่ากัน ส่วนรถที่ใช้ระบบดิสก์เบรก หากไม่มีการชำรุดเสียหายของระบบ การทำงานของเบรกจะเท่ากันทั้งล้อหน้าซ้ายกับล้อหน้าขวา ไม่ต้องทำการปรับตั้งเป็นการช่วยเพิ่มความสะดวกและปลอดภัยตอนเบรกให้มีมากขึ้น

ข้อเสียของดิสก์เบรก

สำหรับระบบเบรกแบบดิสก์ถึงจะมีข้อดีอยู่หลายประการ แต่ในเรื่องข้อเสียก็ยังพอมีอยู่บ้างเหมือนกัน แต่ก็มากมายไม่เท่าไหร่นัก

ข้อเสียของดิสก์เบรกประการแรก คือ ดิสก์เบรกไม่มี Servo Action หรือ Multiplying Action หรือการช่วยเพิ่มแรงโดยอัตโนมัติแบบดรัมเบรก ซึ่งทำให้ดรัมเบรกเหยียบเบรกด้วยแรงน้อยลง ดังนั้นพวกรถที่ใช้ระบบดิสก์เบรกจึงต้องมีระบบเพิ่มกำลัง Power หรือ Booster ที่เราเรียกกันว่า “หม้อลมเบรก” ช่วยการทำงานของแม่ปั๊มเบรก (Brake Master Cylinder) เพื่อให้การเหยียบเบรกพวกดิสก์เบรกไม่ต้องออกแรงมากมายจนเกินไปนัก

ระบบดิสก์เบรกแม้จะมีประสิทธิภาพในการเบรกตอนรถแล่นเดินหน้าได้ดีก็จริง แต่มักจะมีปัญหาช่วงรถแล่นถอยหลังที่ยังหยุดได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ดังนั้นพวกรถที่มีราคาสูงที่ใช้ระบบดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ จึงมักทำดรัมเบรกซ้อนอยู่ในดิสก์หลังอีกทีเพื่อเอาไว้เป็นเบรกมือ ทำให้เบรกมือสามารถหยุดรถได้แน่นอนขึ้นไม่มีปัญหารถถอยหลังแม้จะเป็นการจอดรถอยู่บนเนินก็ตาม ส่วนรถที่ใช้ดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ แต่มีราคาค่าตัวไม่สู้แพงเท่าไหร่นักก็ยังคงใช้ดิสก์เบรกหลังทำเป็นเบรกมือ โดยต่อกลไกเบรกมือมายังดิสก์หลัง แบบนี้เวลาจอดรถบนเนินแล้วใช้เบรกมือ ก็ต้องดึงให้สุดแล้วหาอะไรหนุนล้อเอาไว้ด้วยเพื่อความปลอดภัย


 

บทความที่น่าสนใจ

ขับรถทางไกล ควรเติมลมยางให้ “อ่อน” หรือ “แข็ง” กันแน่..?

idiot

จุดไข่ปลาสีดำ “Frit” ที่อยู่บนกระจกมองหลัง มีไว้เพื่ออะไรกันแน่?

idiot

เคล็ดลับเลือกประกันรถยนต์ ให้คุ้มค่าเงินคุณ

idiot

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy