ล่าสุดได้มีรายงานจาก KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ออกมาระบุว่า สถานการณ์อุตสาหะกรรมยานยนต์ไทยในขณะนี้มีแนวโน้มน่าเป็นห่วง อยู่ภาวะซ้ำรอยออสเตรเลีย หลังค่ายรถจากญี่ปุ่นปรับตัว-แผนผลิตรถอีวี แรงงาน ไทยกว่า 7 แสนคนเสี่ยงได้รับผลกระทบ
หากย้อนไปในช่วงทศวรรตที่ 1970s ประเทศออสเตรเลีย ถือได้ว่าเป็นผู้ผลิตรถยนต์ส่งออกเป็นลำดับที่ 10 ของโลก โดยในตอนนั้นพวกเขามีกำลังผลิตรถยนต์ได้มากถึง 500,000 คันต่อปี แต่เชื่อหรือไม่ว่าในปัจจุบันในออสเตรเลียผลิตรถยนต์เฉลี่ยเพียงปีละ 5,000 คันเท่านั้น สาเหตุเนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่น ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตมาประเทศไทย ซึ่งในตอนนี้เรากำลังจะเจอกับสถานการณ์ที่ออสเตรเลียเจอเมื่อเกือบ 50 ปีที่แล้ว
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในขณะนี้กระแส รถยนต์ไฟฟ้า หรือรถ EV กำลังมาแรง แต่ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นกลับปรับตัวได้ช้าจากแผนการผลิตรถยนต์ EV ที่น้อยกว่ารถยนต์ค่ายยุโรปและอเมริกามากพอสมควร ซึ่งจะส่งผลเสียต่อประเทศไทยโดยตรงเนื่องจากเป็นฐานการผลิตหลักของรถยนต์ญี่ปุ่น คล้ายกับบริษัทรถยนต์อย่าง GM-Holden ในออสเตรเลียที่ไม่ปรับตัวตามความต้องการของตลาดโลก โดยเงียบหายไปในที่สุด
หนึ่งในผู้เล่นคนสำคัญในวงการยานยนต์ที่กำลังมาแรงนั่นก็คือ ประเทศจีน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาประเทศจีนมีสัดส่วนการส่งออกรถยนต์เพิ่มขึ้นจาก 0.7% เป็น 1.5% ขณะที่ประเทศไทยกลับมีสัดส่วนลดลงจาก 1.7% เหลือเพียง 1.3% ซึ่งจีนเข้ามาแย่งตลาดส่งออกในประเทศออสเตรเลีย ส่วนอินโดนีเซียแย่งส่วนแบ่งตลาดในเวียดนามและฟิลิปปินส์
มูลค่าเพิ่มหลักกว่า 30% ของรถยนต์ไฟฟ้า คือ Li-Ion Battery ซึ่งไทยแทบไม่มีบทบาทในการผลิตแบตเตอรี่ และเสียเปรียบคู่แข่ง (ประเทศจีน) ในหลายแง่มุม โดยประเทศไทยไม่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเหมือนจีน ซึ่งการผลิตแบตเตอรี่จำเป็นต้องใช้เวลาในการพัฒนาเทคโนโลยีซึ่งปัจจุบันจีนครอบครองการผลิตจำนวนมาก โดยบริษัท CALT ในจีนครองส่วนแบ่งตลาดกว่า 40% ซึ่งสะท้อนข้อจำกัดในการเข้าตลาดสำหรับคู่แข่งรายใหม่
อีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญก็คือ รถที่ไทยส่งออกส่วนใหญ่เป็นรถยนต์สำหรับประเทศ “พวงมาลัยขวา” ซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดเล็กอยู่แล้ว โดยมีสัดส่วนแค่ 1 ใน 6 ของโลก เมื่อเจอกับปัญหาตลาดในประเทศที่หดตัวลงจากการเข้าสู่สังคมสูงอายุ ส่วนแบ่งในตลาดโลกที่ลดลง และการผลิตสมัยใหม่ที่ใช้คนน้อยลงทำให้ปริมาณการผลิตมีความสำคัญมากขึ้นมาก จะทำให้ไทยเสียเปรียบด้านต้นทุนหรือการประหยัดต่อขนาด ในขณะที่การเปลี่ยนมาผลิตพวงมาลัยซ้ายก็ทำได้ยาก
อีกหนึ่งเหตุผลที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือการที่ไทยมีข้อตกลง FTA กับประเทศจีน ซึ่งส่งผลให้สามารถนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าโดยไม่มีภาษี และการนำเข้ารถยนต์ EV จากจีนมีแนวโน้มที่จะถูกกว่าการผลิตเองภายในประเทศ เพราะปริมาณการการผลิตรถยนต์ EV ที่จีนมีขนาดใหญ่กว่าไทย ทำให้ต้นทุนการผลิตต่อคันถูกกว่า และไม่มีความจำเป็นที่ไทยต้องนำเข้าชิ้นส่วน เช่น แบตเตอรี่มาประกอบเอง สถานการณ์คล้ายกับออสเตรเลียในอดีตที่เริ่มมี FTA กับไทยและท้ายที่สุดนำเข้ารถยนต์จากไทยแทน
ในปัจจุบันมีแรงงานที่อยู่อุตสาหกรรมยานยนต์ราวๆ 7-8 แสนคน ซึ่งหากทางภาครัฐและเอกชนของไทยยังไม่มีการปรับตัว ก็เป็นเรื่องน่าห่วงว่าในอนาคต แรงงาน เหล่านี้คงจะได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : advicecenter.kkpfg.com / marketeeronline.co / prachachat.net / freepik.com