หลังจากเปิดตัวกันมาได้กว่า 3 ปี แล้วกับเจ้า Honda Civic เจเนอเรชั่นที่ 10 ทาง Honda ก็ได้ฤกษ์แต่งหน้า ทาปากกันใหม่ แต่ก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ให้เกิดความแตกต่างจากรุ่นเดิม แต่จุดสำคัญที่ทาง Honda ได้เล็งเห็นและได้เสริมเติมเข้ามาคือระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ Honda Sensing ซึ่งก่อนหน้านี้ในด้านของระบบความปลอดภัยนั้นทาง Honda จะใส่เฉพาะสิ่งทีจำเป็นเท่านั้น เช่น ระบบป้องกันล้อล็อก (ABS), ระบบกระจายแรงเบรก (EBD), ระบบช่วยควบคุมการทรงตัวขณะเข้าโค้ง (VSA) และระบบช่วยออกตัวขณะอยู่บนทางลาดชัน (HSA) เป็นต้น และครั้งนี้ก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี ที่ผู้บริโภคจะได้รับความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้นจากรถยนต์ Honda
เกรินกันมาพอควรแล้ว เรามาเข้าเรื่องกันครับ ทาง ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) ได้เชิญชวนสื่อมวลชนพร้อมเว็บไซต์ Carvariety.com เข้าร่วมสัมผัสและทดสอบระบบความปลอดภัย Honda Sensing ใน Honda Civic ใหม่ บนเส้นทาง กรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่เขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ระยะทางกำลังพอดี ไป – กลับ 300 กว่ากิโลเมตร กับรูปแบบถนนครบถ้วนทั้งขึ้นเขา ลงเขา โค้งต่างๆ มากมาย
ก่อนจะไปที่ระบบความปลอดภัย Honda Sensing นั้นเราก็ไปกันที่รายละเอียดตัวรถกันก่อน เริ่มจากภายนอก Honda Civic ได้รับการออกแบบภายใต้แนวคิด “Revolutionary Silhouette Advanced Neo Sedan” เน้นการออกแบบในสไตล์ที่ล้ำสมัยบนพื้นฐานการจัดวางโครงสร้างภายในอย่างมีระดับ ด้วยลักษณะตัวถังที่ให้ความรู้สึกถึงความแข็งแกร่ง ผสานกับเส้นสายด้านข้างตัวรถที่คมชัด สะท้อนรูปลักษณ์ที่โฉบเฉี่ยว ซึ่งใน Honda Civic ใหม่นั้นได้มีการเปลี่ยนกันชนหน้าใหม่ให้ดูสปอร์ตมากขึ้น ร่วมถึงกันชนด้านท้ายก็มีการปรับเปลี่ยนด้วยเช่นกัน
ในส่วนต่อมาก็มาที่ภายในก็ยังคงดีไซน์เดิมอยู่ แต่ก็มีการเสริมเติมแต่งที่แผงคอลโซนด้านหน้าใหม่ รวมถึงหน้าจอสัมผัสของระบบเครื่องเสียงก็มีการเปลี่ยนเมนูหลักจากระบบสัมผัส เป็นแบบปุ่มกดแทนเพื่อการใช้งานที่สะดวกมากขึ้น ในส่วนของคอนโซลกลางก็ยังคงแนวคิด “Tech Center” ซึ่งเปรียบเสมือนศูนย์กลางเทคโนโลยี โดยด้านบนสามารถแยกออกเป็น 2 ชั้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อสมาร์ทโฟนเข้ากับช่องเชื่อมต่อได้อย่างเป็นระเบียบ นำเสนอฟังก์ชั่นที่ทันสมัยสำหรับความสะดวกสบายในทุกการเดินทาง
อาทิหน้าจอแสดงผลการเชื่อมต่อโทรศัพท์ไร้สาย (Hands-free Telephone) สวิตช์ควบคุมเครื่องเสียง สวิตช์รับและวางสายโทรศัพท์บนพวงมาลัย พร้อมสวิตช์สั่งการด้วยเสียงผ่าน Siri ช่องเชื่อมต่อ USB พร้อมช่องเชื่อมต่อ HDMI และช่องจ่ายไฟสำรอง อีกทั้งที่วางแก้วน้ำและช่องเก็บของบริเวณคอนโซลกลาง เพื่อความสะดวกในการจัดแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วนตลอดพื้นที่คอนโซลกลาง ซึ่งในส่วนนี้ถูกใจมากๆ ใส่ของได้เยอะ และยังเป็นจุดชาร์จ จุดเชื่อมต่อ อุปกรณ์ต่างๆ ได้ง่ายดาย
ในการทดสอบครั้งนี้ขาไปเราได้สัมผัสกับตัว 1.8 i – VTEC EL กันก่อน ซึ่งไม่ได้ใส่ระบบความปลอดภัย Honda Sening ทาง Honda จับใส่เฉพาะรุ่น Top เท่านั้น แต่ก็ยังเป็นตัวที่ใส่ชุดแต่ง Modulo ทั้งคัน โดยเครื่องยนต์ขนาด 1.8 ลิตร SOHC i-VTEC มีกำลังสูงสุด 141 แรงม้า ที่ 6,500 รอบต่อนาที และให้แรงบิดสูงสุดที่ 174 นิวตัน-เมตร ที่ 4,300 รอบต่อนาที มาพร้อมด้วยระบบเกียร์อัตโนมัติ CVT ที่ได้รับการพัฒนาภายใต้เทคโนโลยีเอิร์ธดรีม ที่สำคัญยังรองรับพลังงานทางเลือก E85
มาถึงขากลับเราก็ได้ตัว 1.5 VTEC Turbo RS มาครองเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งเจ้าตัว 1.5 VTEC Turbo RS นั้นมีระบบความปลอดภัย Honda Sensing ใส่มาให้เรียบร้อย มาพูดถึงตัวเครื่องยนต์มีขนาด 1.5 ลิตร DOHC VTEC TURBO พร้อมด้วยระบบเกียร์อัตโนมัติ CVT ซึ่งทั้งเครื่องยนต์และระบบเกียร์ดังกล่าวได้รับการพัฒนาภายใต้เทคโนโลยีเอิร์ธดรีม ให้กำลังสูงสุด 173 แรงม้า ที่ 5,500 รอบต่อนาที ด้วยแรงบิดสูงสุดแบบ flat torque 220 นิวตัน-เมตร ที่ 1,700 – 5,500 รอบต่อนาที โดยใช้เทคโนโลยีหัวฉีดไดเรคท์ อินเจคชั่น ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงเข้าสู่ห้องเผาไหม้โดยตรง พร้อมการออกแบบท่อไอดีแบบตรง และเทอร์โบชาร์จเจอร์ที่ช่วยอัดอากาศเข้าสู่ห้องเผาไหม้ของเครื่องยนต์ได้รวดเร็วและปริมาณเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้ ซึ่งให้กำลังเทียบเท่าเครื่องยนต์ขนาด 2.4 ลิตร แต่มีอัตราการประหยัดน้ำมันเทียบเท่าเครื่องยนต์ขนาด 1.8 ลิตร โดย 3 เทคโนโลยีหลักของ VTEC TURBO ที่ให้สมรรถนะอันทรงพลังและอัตราการประหยัดน้ำมันที่ดีเยี่ยม ได้แก่
2.1 ระบบหัวฉีด ไดเรคท์ อินเจคชั่น และท่อไอดีแบบตรง
เครื่องยนต์ VTEC TURBO ใช้เทคโนโลยีหัวฉีดไดเรคท์ อินเจคชั่น ซึ่งจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงผ่านหัวฉีดตรงไปยังกระบอกสูบ การไหลของไอดีแบบตรงช่วยให้อากาศและเชื้อเพลิงผสมกันได้อย่างรวดเร็ว และยังช่วยเพิ่มแรงบิดในทุกช่วงการทำงานของรอบเครื่องยนต์ พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพในการประหยัดน้ำมันยิ่งขึ้น
ระบบนี้ประกอบด้วยปั๊มแรงดันสูง และหัวฉีดแรงดันสูงแบบ multi hole สามารถฉีดตรงเข้าสู่ห้องเผาไหม้ในลักษณะฝอยละอองที่ละเอียดยิ่งขึ้น ช่วยให้อากาศที่ถูกส่งเข้ามาในห้องเผาไหม้ได้ผสมกับน้ำมันที่ถูกจ่ายลงมาได้อย่างทั่วถึง ทำให้เกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ ซึ่งจะช่วยลดการเกิดมลภาวะในอากาศ
2.2 ระบบการควบคุมการเปิด – ปิดวาล์วแบบคู่ (Dual Variable Timing Control)
ที่สามารถแปรผันช่วงเวลาในการทำงานทั้งในส่วนของแคมชาฟต์ฝั่งไอดีและไอเสียได้อย่างอิสระ โดยจะปรับช่วงเวลาในการเปิดและปิดของวาล์วไอดีและวาล์วไอเสียให้สอดคล้องกับสภาพการขับขี่ที่แท้จริง จึงทำให้เครื่องยนต์ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพในทุกรอบการทำงานของเครื่องยนต์
2.3 เทอร์โบ ชาร์จเจอร์ ที่มีระบบควบคุมช่องระบายไอเสียส่วนเกินด้วยไฟฟ้า
สำหรับเครื่องยนต์ VTEC TURBO มีการใช้เทอร์โบชาร์จเจอร์แบบเวสท์เกตไฟฟ้า และใบเทอร์ไบน์ที่มีขนาดเล็กและเบา ทำให้การปั่นของใบเทอร์ไบน์มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ถึงแม้จะใช้ปริมาณไอเสียที่น้อย แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือการตอบสนองของคันเร่งที่ดีขึ้น ลดปัญหาอาการ Turbo Lag หรือ การตอบสนองของคันเร่งที่ล่าช้าหลังจากเหยียบคันเร่ง
สุดท้ายก็คงต้องมาพูดถึง Honda SENSING เทคโนโลยีความปลอดภัยอัจฉริยะใหม่จากHonda ที่ผสานการทำงานของเรดาร์กับกล้องด้านหน้าในการตรวจจับสภาวะแวดล้อมบนท้องถนน ช่วยแจ้งเตือนและช่วยควบคุมรถในสถานการณ์การขับขี่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของตัวผู้ขับขี่และเพื่อนร่วมทางบนท้องถนน ได้แก่
- ระบบเตือนการชนรถและคนเดินถนนพร้อมระบบช่วยเบรก (Collision Mitigation Braking System – CMBS) เป็นระบบที่ช่วยเตือนผู้ขับขี่ให้ลดความเร็วของรถเมื่อมีรถคันข้างหน้า หรือคนเดินถนนอยู่ในระยะที่ไม่ปลอดภัย โดยระบบจะแจ้งเตือนผ่านหน้าจอแสดงข้อมูลและสัญญาณเสียงรวมถึงมีการสั่นเตือนของพวงมาลัยในกรณีที่มีรถสวนทาง ซึ่งหากผู้ขับขี่ยังไม่ตอบสนองหรือในกรณีที่อยู่ในระยะที่เสี่ยงต่อการชน ระบบจะช่วยเสริมแรงเบรกให้อัตโนมัติ เพื่อหลีกเลี่ยงการชนหรือลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุ
จากที่ได้ทดสอบดูในระบบนี้นั้น มีปัจจัยในหลายๆ อย่างที่ระบบจะทำงานโดยระบบนี้จะเริ่มทำงานตั้งแต่ความเร็ว 5 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป เราได้ทดสอบหลายๆ ความเร็ว ในช่วงที่ทดสอบรถกัน จะมีเสียงเตือนตลอดเมื่อมีระยะใกล้ๆ กับคันหน้ามากๆ (น่าจะประมาณ 2 ม้บรรทัดได้) แต่ระบบยังไม่เบรกให้ เนื่องจากรถคันหน้างยังมีช่วงความเร็วที่ใกล้เคียงกัน แต่บางจังหวะที่รถคันหน้ามีการเบรกกะทันหัน รถอยู่ห่างกันเกือบ 1 ช่วงคัน ระบบเตือนการชนรถและคนเดินถนนพร้อมระบบช่วยเบรก นั้นก็ทำงานให้ เราตั้งใจลองเพื่อทดสอบระบบนี้หลายรอบ แต่ยากที่จะให้มันจะเบรกให้ พอเราเผลอนั้นแหละมันกลับทำงานให้ได้เป็นอย่างดี (ทางที่ดีอย่าไปลองนะครับ อาจจะชนเอาง่ายๆ)
- ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผันพร้อมระบบปรับความเร็วตามรถยนต์คันหน้าที่ความเร็วต่ำ(Adaptive Cruise Control with Low-Speed Follow – ACC with LSF) เป็นระบบช่วยควบคุมความเร็วของรถให้คงที่ตามที่ผู้ขับขี่ตั้งค่าไว้ และระบบจะปรับความเร็วอัตโนมัติ โดยมีกล้องและเรดาร์ตรวจจับรถคันหน้า เพื่อรักษาระยะห่างจากรถคันหน้าอย่างเหมาะสม และในการขับขี่ที่ความเร็วต่ำ ระบบจะช่วยปรับความเร็วให้รถเคลื่อนที่ตามรถคันหน้า รวมถึงเบรกและหยุดตามรถคันหน้าอัตโนมัติ ระบบจะเริ่มทำงานอีกครั้งเมื่อผู้ขับขี่กดปุ่มที่พวงมาลัยหรือเหยียบคันเร่ง
จากการได้ทดสอบถือว่าดีเลยทีเดียว ควบคุมอัตราเร่งได้ดีสามารถปรับระยะห่างจากคันหน้าได้ด้วย แต่การเบรกอาจจะรวดเร็วไปทำให้รู้สึกกระชากนิดหน่อย และในมุมองศาของการทำงานของระบบมุมกว้างไปสักหน่อยเวลาเราเค้าโค้งในเลนขวาสุด แต่ถ้าระบบจับได้ว่ามีรถอยู่ในเลนกลางนำหน้าเราอยู่ระบบก็จะทำงานด้วยสั่งให้รถชลอตัวลง อาจจะเสียจังหวะกันนิดหน่อย แต่โดยร่วมถือว่าทำงานได้ดีไม่ต่างจากรุ่นพี่อย่าง Accord ที่นำมาใช้ก่อนแล้ว
- ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทางเดินรถ (Lane Keeping Assist System – LKAS)กล้องด้านหน้าจะทำการตรวจจับเส้นแบ่งช่องทางเดินรถ และระบบจะช่วยเพิ่มแรงหน่วงของพวงมาลัย เพื่อช่วยผู้ขับขี่ให้ควบคุมรถอยู่ภายในช่องทางปกติรวมทั้งช่วยลดอาการเหนื่อยล้าของผู้ขับขี่จากการขับขี่
- ระบบเตือนและช่วยควบคุมเมื่อรถออกนอกช่องทางเดินรถ(Road Departure Mitigation System with Lane Departure Warning – RDM with LDW) เป็นระบบที่ใช้กล้องด้านหน้าในการตรวจจับเส้นแบ่งช่องทางจราจร หากพบว่ารถอยู่ในสภาวะเบี่ยงออกนอกช่องทางโดยไม่ตั้งใจ ระบบจะส่งสัญญาณเตือนที่หน้าจอแสดงข้อมูลพร้อมการสั่นเตือนของพวงมาลัย และในกรณีที่รถเริ่มเบี่ยงออกนอกช่องทางมากยิ่งขึ้น ระบบจะช่วยหน่วงพวงมาลัยเพื่อให้รถกลับเข้าสู่ช่องทาง หากรถยังคงเบี่ยงออกนอกช่องทางอย่างไร้การควบคุมจนอาจเกิดอุบัติเหตุ ระบบเบรกจะทำงานเพื่อชะลอความเร็ว (ในกรณีเส้นแบ่งถนนเป็นเส้นทึบ) เพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่รถจะออกนอกช่องทางจราจร
ในส่วนของทั้ง 2 ระบบทั้ง ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทางเดินรถ และระบบเตือนและช่วยควบคุมเมื่อรถออกนอกช่องทางเดินรถ จะทำงานร่วมกันซึ่งก็ทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี ทางเราได้ทำการทดสอบหลายๆ รอบ ต้องบอกว่าควบคุมตัวรถได้ดีพวงมาลับดึงกลับตลอดเวลาแทบจะไม่หลุดออกจากช่องจราจรเลยทีเดียว(ในความเร็วที่พอเหมาะประมาณไม่เกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง) เกือบจะเหมือน Autopilot เลยที่เดียวแต่ก็ยังมีปัจจัยทำให้ระบบหยุดทำงาน หรือไม่ทำงานได้เช่นกัน ทั้งความชัดของเส้นแบ่งถนน ระยะเวลาการใช้งานถ้านานเกินไประบบก็จะคำนวณถึงความปลอดภัยจนต้องชะลอความเร็วรถลงจนรถยุดนิ่ง ก็ถือว่าทั้ง 2 ระบบนี้ทำงานร่วมกันได้ดี บางยี่ห้อระบบจะหน่วงพวงมาลัยได้สักพักก็หลุดออกนอกช่องทางจราจรซะแล้ว
- ระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ(Auto High-Beam – AHB) เป็นระบบปรับไฟสูง-ต่ำอัตโนมัติด้วยกล้อง โดยจะปรับเป็นไฟสูงเมื่อขับขี่ในที่มืด และจะปรับเป็นไฟต่ำเมื่อตรวจจับได้ว่ามีรถสวนทางหรือมีรถยนต์ด้านหน้า
เป็นอีกหนึ่งระบบที่ช่วยเรื่องการขับรถกลางคืนในช่วงถนนที่ไม่มีไฟถนนเลย หรืออาจจะมีความสว่างน้อย และต้องใช้ไฟสูงอย่างสม่ำเสมอ ไม่ต้องคอยพะวงเปิด และปิดตลอดเวลา โดยระบบจะมีการตรวจจับรถที่สวนมากทางด้านหน้าในระยะ 500 เมตรขึ้นไปเมื่อมีรถถยนต์สวนมาระบบจะปรับเป็นไฟต่ำให้อัตโนมัติ สะดวกมากๆ สำหรับคนที่ขับรถต่างจังหวัดบ่อยๆ
ทาง Honda ก็พยายามพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเรื่อย Honda Sensing ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งความปลอดภัยที่ทาง Honda เพิ่มเข้ามาให้กับ Honda Civic ใหม่ และใช่ว่าจะมีแค่รุ่นเดียวนะครับ ต้องรอติดตามกันต่อไปว่ารุ่นไหนจะพ่วง Honda Sensing ตามออกมาอีก Honda Civic ใหม่ มีให้เลือกทั้งหมด 4 รุ่น ได้แก่
รุ่น TURBO RS ราคา 1,219,000 บาท
รุ่น TURBO ราคา 1,104,000 บาท
รุ่น 1.8 EL ราคา 964,000 บาท
รุ่น 1.8 E ราคา 874,000 บาท
โดยมีให้เลือกทั้งหมด 5 สีได้แก่ สีเงินลูนาร์ (เมทัลลิก) สีเทาโมเดิร์นสตีล (เมทัลลิก) สีดำคริสตัล (มุก) และ 2 สีใหม่ ได้แก่ สีน้ำเงินบริลเลียนท์ สปอร์ตตี้ (เมทัลลิก) และสีขาวแพลทินัม (มุก) สำหรับลูกค้าที่สนใจ Honda Civic ใหม่ สามารถทดลองขับเพื่อสัมผัสประสบการณ์การขับขี่และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โชว์รูมฮอนด้าทั่วประเทศหรือ www.honda.co.th/civic