กรุงเทพฯ ประเทศไทย 5 มิถุนายน 2567 – เทคโนโลยีความเป็นจริงแบบผสม ที่ผสานระหว่างโลกความเป็นจริงและสิ่งเสมือนเข้าไว้ด้วยกัน นับเป็นเครื่องมือสำคัญของนักออกแบบรถยนต์ผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนารถฟอร์ด เรนเจอร์ ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์ และฟอร์ด เอเวอเรสต์ ในประเทศออสเตรเลีย
ความสามารถในการแสดงภาพแบบความละเอียดสูง ช่วยให้นักออกแบบทั่วโลกทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนบางครั้งเทคโนโลยีอันทรงพลัง เป็นธรรมชาติ และสมจริงนี้ทำให้นักออกแบบแทบจะแยกไม่ออกระหว่างความเป็นจริงกับภาพเสมือน
“เทคโนโลยีเสมือนจริงที่เราใช้มีความแนบเนียบมาก จนบางครั้งเมื่อถอดแว่นตาเสมือนจริงออก เราต้องใช้เวลาครู่หนึ่งเลยเพื่อปรับการรับรู้ว่า รถที่เห็นผ่านแว่นเมื่อสักครู่ไม่ได้อยู่ตรงหน้าเราแล้ว” แอนดรูว์ ดัลแลน-โจนส์ ผู้จัดการฝ่ายการประมวลภาพ ประจำศูนย์การออกแบบของฟอร์ดในประเทศออสเตรเลีย กล่าว
เทคโนโลยีความเป็นจริงแบบผสมนี้ยังมีส่วนช่วยเสริมการทำงานร่วมกันของทีมต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น เพราะนักออกแบบที่เกี่ยวข้องทุกคนเข้ามาทำงานร่วมกันบนโลกดิจิทัล 3 มิติได้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของกระบวนการออกแบบ “เราจึงตรวจสอบรถเสมือนจริงในสภาพแวดล้อมของสตูดิโอที่เราคุ้นเคยได้ ก่อนจะลงมือสร้างรถต้นแบบที่เรามั่นใจ ลดการลองผิดลองถูก การออกแบบจึงทำได้เร็วขึ้น” แอนดรูว์ กล่าว
ในการพัฒนาเทคโนโลยีความเป็นจริงแบบผสมเพื่อใช้ในการออกแบบ ทีมฟอร์ดในออสเตรเลียได้จำลอง ‘ถาดหลุม’ แบบเสมือนจริงขึ้นมาเพื่อให้ทีมงานเข้าไปทดสอบชุดหูฟัง แต่ปฏิกิริยาของผู้ที่ได้ร่วมทดสอบนั้นสะท้อนให้เห็นว่าเทคโนโลยีความเป็นจริงแบบผสมนั้นมีความสมจริงเพียงใด
“เราจำลองพื้นที่ให้มีลักษณะเหมือนถาดหลุม เพื่อสาธิตประสบการณ์ 3 มิติที่มีความสมจริงของอุปกรณ์แว่นตาความเป็นจริงแบบผสม” โครี่ มิดเดิลลิง ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการประมวลภาพประจำศูนย์ออกแบบของฟอร์ด ออสเตรเลีย กล่าว
“แต่การค้นพบครั้งสำคัญของเรา เกิดจากการได้เห็นผู้ทดสอบเดินอย่างระมัดระวังเข้าไปใกล้ปากหลุมจำลอง แล้วมองลงไปข้างล่างเหมือนบริเวณนั้นมีหลุมอยู่จริงๆ เราจึงตัดสินใจวางภาพจำลองรถที่เรากำลังออกแบบไว้บนถาดที่มีแท่นยกขึ้น-ลงได้ เพื่อให้ผู้ใช้งานได้เห็นมุมมองที่แตกต่างกันได้รอบตัวรถ”
โครี่อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า “ก่อนหน้านี้ เราทดสอบเทคโนโลยีความเป็นจริงแบบผสมเพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ต่างๆ ในการออกแบบ ต่อมาเราจึงตระหนักได้ว่าการทำให้รถยกขึ้นและลงได้นั้นมีประโยชน์อย่างมาก เพราะนักออกแบบจะมองเห็นภาพจากมุมด้านบนรถได้ง่ายๆ เพียงยืนบริเวณปากหลุมจำลองและก้มลงไป จากที่เมื่อก่อนเราต้องเดินขึ้นบันไดไปยืนอยู่บนชั้นลอยเพื่อมองลงมาให้เห็นหลังคารถ”
แม็กซ์ วูล์ฟ ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบประจำฟอร์ด ประเทศจีน และตลาดนานาชาติ เสริมว่าการนำเทคโนโลยีเสมือนจริงและเทคโนโลยีความเป็นจริงแบบผสมนี้มาใช้ร่วมกัน ถือเป็นการยกระดับนวัตกรรมการออกแบบไปอีกขั้น จากการตรวจสอบงานออกแบบเสมือนจริงที่มีความละเอียดสูงพร้อมกับเพื่อนร่วมงานทั้งที่อยู่ในออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และยุโรปได้ในเวลาเดียวกัน
“การทำงานร่วมกันได้แบบเรียลไทม์ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลก ไปจนถึงข้อได้เปรียบอื่นๆ จากการใช้เทคโนโลยีความเป็นจริงแบบผสม นับเป็นการปฏิวัติวิถีแห่งการออกแบบให้ล้ำสมัยขึ้นไปอีก”
- พื้นที่ออกแบบเสมือนจริงช่วยให้นักออกแบบของฟอร์ดตรวจสอบแบบจำลองรถยนต์เสมือนจริงในสภาพแวดล้อมจริงได้ก่อนผลิตรถต้นแบบ
- ทีมงานได้พัฒนา ‘ถาดหลุมเสมือนจริง’ เพื่อช่วยให้นักออกแบบคุ้นชินกับการผสมผสานโลกแห่งคามเป็นจริงกับสิ่งเสมือน ซึ่งนำไปสู่การค้นพบครั้งใหม่ในงานออกแบบ
- การใช้เทคโนโลยีความเป็นจริงแบบผสมในงานออกแบบช่วยให้ทีมงานทั่วโลกตรวจสอบงานออกแบบเสมือนจริงที่มีความละเอียดสูงไปพร้อมกันได้แบบเรียลไทม์
โครี่เล่าว่าฟอร์ดได้ใช้เทคโนโลยีความเป็นจริงแบบผสมในทุกขั้นตอนของกระบวนการออกแบบ “ในขั้นแรก เราใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อกำหนดขนาด รูปแบบ และพื้นผิวตัวถัง”
และเมื่อมีการกำหนดแนวทางการออกแบบที่ชัดเจนแล้ว ฟอร์ดยังใช้เทคโนโลยีความเป็นจริงแบบผสมตรวจสอบการออกแบบทั้งภายในและภายนอกให้มีความสอดคล้องกัน โดยนักออกแบบสามารถเทียบภาพต้นแบบดิจิทัลกับต้นแบบรถจริงสลับไปมาได้ง่ายๆ
“การใช้เทคโนโลยีความเป็นจริงแบบผสมช่วยให้เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทดลองออกแบบรถด้วยแนวทางใหม่ๆ ได้บ่อยขึ้น และลดขั้นตอนการออกแบบบางส่วนที่เคยใช้เวลาหลายเดือนเหลือเพียงไม่กี่สัปดาห์ ทั้งหมดมาจากความเชื่อมั่นในการทำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้” โครี่ กล่าวสรุป