หลังจากที่ Tesla บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าอันดับ 1 สัญชาติอเมริกัน ได้มาเปิดตัวรถ Model 3 และ Model Y พร้อมทำตลาดในประเทศไทยอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา สร้างเสียงฮือฮาให้กับผู้คนเป็นจำนวนมากที่เฝ้ารอการมีทำตลาดของ Tesla ในประเทศไทย โดยล่าสุด KKP Research ได้ออกมาวิเคราะห์ว่าการมาถึงของ Tesla ในประเทศไทยอาจจะไม่ปังอย่างที่คิด
โดย KKP มองว่า Tesla อาจเข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดในประเทศไทยได้เพียง 4.5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งหากเปรียบเทียบกับประเทศสหรัฐอเมริกา Tesla สามารถครองส่วนแบ่งทางการตลาดในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าไปได้ราวๆ 63.5% ซึ่งถือได้ว่าเยอะมากๆ เพราะในสหรัฐอเมริกามีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อย่าง Ford และ GM ที่ทั้งสองแบรนด์ต่างก็มีรถยนต์ไฟฟ้าจำหน่ายด้วยเช่นเดียวกัน เรามาวิเคราะห์กันว่าทำไมในประเทศไทย Tesla อาจจะไม่ได้กลายเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า
ราคา เป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อรถของคนไทย
เราปฏิเสธไม่ได้ว่า “ราคา” เป็นสิ่งสำคัญที่คนซื้อรถให้ความสำคัญเป็นสิ่งแรกๆ ซึ่งถึงแม้ว่าทาง Tesla ประเทศไทยจะเปิดราคาขายของรถ Model 3 (1,759,000 บาท) และ Model Y (1,959,000 บาท) ซึ่งต่ำกว่าที่หลายๆคนคาดการณ์ไว้ แต่จากสถิติ รถยนต์ที่มีการใช้งานบนท้องถนนราวๆ 60% ในประเทศไทย ยังคงเป็นรถยนต์ที่อยู่ในกลุ่มราคาเฉลี่ยคันละ 500,000-700,000 บาท มียอดขายประมาณปีละ 390,000 คัน ซึ่งเป็นราคาที่ถูกกว่ารถยนต์ไฟฟ้า Tesla ถึง 3 เท่าตัวด้วยกัน
นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบกับ Tesla Model 3 ในสหรัฐอเมริกา จะมีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ราวๆ 1,510,000 บาทซึ่งถูกกว่าประเทศไทยราวๆ 250,000 บาท แต่ต้องอย่าลืมว่ารายได้ขั้นต่ำของสหรัฐนั้นสูงกว่าประเทศไทยมากถึง 6 เท่าตัว ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้คนไทยที่มี “ฐานะระดับปานกลาง” อาจเข้าถึงรถยนต์ไฟฟ้าได้ยากมากยิ่งขึ้น
รถยนต์ไฟฟ้าจาก “ประเทศจีน” เป็นคู่แข่งคนสำคัญที่มีจุดเด่นเรื่องความคุ้มค่า และมีราคาที่จับต้องได้
รถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน ถือเป็นอีกคู่แข่งคนสำคัญของ Tesla ด้วยราคาที่เข้าถึงได้ง่ายกว่า รวมถึงออปชั่นความปลอดภัยที่ให้มาพอสมควร ยกตัวอย่างเช่น BYD ATTO 3 ที่เปิดราคาจำหน่ายมาที่ 1,199,900 บาท ซึ่งถึงแม้ว่าตัวรถจะมีขนาดเล็กกว่า กำลังน้อยกว่า วิ่งได้ระยะทางน้อยกว่า แต่ด้วยราคาค่าตัวที่ต่ำกว่าถึง 600,000 บาท และชื่นชั้นของแบรนด์ก็เรียกว่าไม่น้อยหน้า Tesla (ในปี 2022 BYD เป็นแบรนด์ที่ขายรถยนต์ไฟฟ้าเป็นอันดับที่ 2 เป็นรองเพียง Tesla เท่านั้น) จึงทำให้หลายๆคนหันไปคบรถยนต์ไฟฟ้าจากแดนมังกรแทน
โชว์รูมและศูนย์บริการ ณ ปัจจุบันยังมีเพียงที่เดียว
อีกหนึ่งปัญหาที่หลายๆคนกังวลคือ หากรถเสียจะต้องนำไปเซอร์วิสที่ไหน จริงอยู่ที่รถยนต์ไฟฟ้าแทบจะไม่ต้องซ่อมบำรุงอะไรเลย แต่ในขณะนี้ Tesla มีศูนย์บริการเพียงแห่งเดียวคือ TESLA SERVICE CENTER รามคำแหง ซึ่งคนที่อยู่ต่างจังหวัดคงจะไม่สะดวกนักหากนำรถมีเข้ารับบริการ ที่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าในอนาคตทาง Tesla จะต้องเปิดศูนย์บริการให้ครอบคลุมมากกว่านี้อย่างแน่นอน
โครงสร้างพื้นฐานสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ยังไม่ดีมากพอ
อีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อรถยนต์ไฟฟ้าทุกค่ายก็คือ จำนวนสถานีชาร์จที่มีไม่เพียงพอและไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยเราจะเห็นได้ว่าในสถานีชาร์จไฟตามปั๊มน้ำมันนั้นยังมีจำนวนที่น้อยเกินกว่าที่จะรองรับจำนวนของรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังจะเพิ่มขึ้นในประเทศไทยอย่างรวดเร็ว และบ่อยครั้งผู้ที่ใช้รถยนต์สันดาปก็นำรถไปจอดขวางในช่องสำหรับชาร์จไฟฟ้า ซึ่งหลายๆคนยังคงเป็นกังวลในจุดนี้และหันไปหารถยนต์ไฮบริดหรือปลั๊กอิน-ไฮบริดนั่นเอง
ตลาดรถยนต์พรีเมียม และรถยนต์ญี่ปุ่น D-Segment เป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง
รถยนต์กลุ่มพรีเมียมอย่าง Audi, BMW และ Mercedes Benz รวมถึงรถยนต์ขนาด D-Segment จากญี่ปุ่นอย่าง Toyota Camry, Honda Accord น่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องด้วยราคาของรถยนต์ Tesla ที่เปิดตัวมาใกล้เคียงกับรถกลุ่มนี้ (ที่เป็นรถสันดาปภายในหรือรถไฮบริด) รวมถึงขนาดตัวถังที่ใกล้เคียงหรือใหญ่กว่า ทำให้ลูกค้าอาจเปลี่ยนใจหันมามองรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง Tesla แทน เพราะนอกจากจะได้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% แล้ว ยังได้ระบบช่วยเหลือการขับขี่ Autopilot ซึ่งล้ำสมัยมากๆอีกด้วย
เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับบทความที่เรานำมาฝากกันในวันนี้ หากชื่นชอบก็สามารถติดตามข่าวสารดีๆได้ทาง Facebook Fanpage : ฅ-คนรักรถ Carlover ได้เลยครับ เราจะนำข่าวสารยานยนต์ดีๆมาฝากทุกท่านอีกแน่นอน
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : KKP Research / plugshare.com