ยาง ถือได้ว่าเป็นชิ้นส่วนที่สำคัญเป็นอย่างมากในรถยนต์คันหนึ่ง เพราะต้องอย่าลืมว่ายางเป็นชิ้นส่วนเพียงชิ้นเดียวที่ “สัมผัส” กับพื้นถนน และจะเป็นอย่างไรหากเรานำยางรถยนต์แบบ AIRLESS Tweel หรือยางแบบไร้ลมยางและยางจากยุคปี 1920s นำมาใส่ในรถสปอร์ตอย่าง Mazda MX-5
หมายเหตุ : (ยางแบบ AIRLESS Tweel ในปัจจุบันนิยมใช้ในรถ Buggy และรถทางการเกษตร แต่ Michelin กำลังพัฒนายางรูปแบบนี้สำหรับรถโดยสารทั่วไป ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2024)
เพื่อที่จะค้นหาคำตอบ ยูทูปเบอร์ที่มีชื่อว่า DonutMedia ได้นำยางรถยนต์แบบ AIRLESS Tweel มาติดตั้งในรถ Mazda MX-5 ของพวกเขา และนอกจากนี้พวกเขายังได้นำยางจากยุคปี 1920s หรือเมื่อราวๆ 100 ปีที่แล้วมาทดสอบว่าใครจะมีประสิทธิภาพมากกว่ากัน แต่ปัญหาอยู่ที่ขนาดของยางทั้ง 2 แบบนั้นมีความกว้างที่มากกว่าซุ้มล้อ จึงทำให้พวกเขาจำเป็นต้องเพิ่มสเปเซอร์จำนวนมาก เพื่อให้สามารถใส่ยางทั้งสองแบบได้นั่นเอง
การทดสอบถูกแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบได้แก่ ทดสอบระยะเบรก, ทดสอบอัตราเร่ง, ทดสอบความสามารถในการทนต่อแรงเหวี่ยง และสุดท้ายคือทดสอบความทนทานและความสามารถในการลุยนั่นเอง
เริ่มกันด้วยการทดสอบระยะเบรก จะเห็นได้ว่า ยางจากยุคปี 1920s นั้นมีระยะเบรกไกลที่สุด ตามมาด้วยยางแบบ AIRLESS และปิดท้ายด้วยยางแบบปกติซึ่งมีระยะเบรก “สั้น” ที่สุด
มาต่อกันที่การทดสอบอัตราเร่งระหว่างยางทั้ง 3 แบบ ไม่ต้องสืบเลยว่ายางแบบปกตินั้นสามารถทำเวลาได้ดีที่สุดด้วยเวลา 6.49 วินาที ตามมาด้วยยางแบบ AIRLESS ที่สามารถทำเวลาได้ที่ 7.03 วินาทีตามมาด้วยยางจากปี 1920s ที่สามารถทำเวลาได้ที่ 7.05 วินาที
การทดสอบต่อมาเป็นการทดสอบความสามารถในการทนต่อแรงเหวี่ยง ซึ่งผู้ทดสอบจะขับรถวนเป็นวงกลมและเพื่อดูว่ายางแบบไหนจะให้การยึดเกาะในโค้งและทำเวลาได้ดีมากที่สุด โดยผู้ชนะในการทดสอบในครั้งนี้ก็คือ ยางแบบมาตรฐานซึ่งทำเวลาไปได้ที่ 8.72 วินาที ตามมาด้วยยางจากยุคปี 1920s สามารถทำเวลาได้ที่ 9.88 วินาทีซึ่งจากคลิปจะเห็นได้ว่า ตัวยางเริ่มเสียการยึดเกาะจนทำให้ผู้ขับต้องพยายามควบคุมพวงมาลัยและคันเร่งไม่ให้รถคันนี้หมุน ปิดท้ายด้วยยางแบบ AIRLESS ซึ่งสามารถทำเวลาไปได้ที่ 11.09 วินาที
ปิดท้ายกันด้วยการทดสอบความทนทานและความสามารถในการลุย โดยพวกเขาได้ทำการทดสอบยางทั้ง 3 แบบในลักษณะทางลูกรังและขับข้ามสิ่งกีดขวางรวมถึงขับถ่ายของมีคม โดยผู้ชนะในการทดสอบก็ยังคงเป็นยางแบบมาตรฐานอยู่ดี ตามมาด้วยยางจากยุคปี 1920s และยาง AIRLESS ตามลำดับ แต่ยางแบบ AIRLESS เป็นยางเพียงแบบเดียวที่ไม่ได้รับความเสียหายจากการทดสอบในครั้งนี้
ขอบคุณคลิปวีดีโอจาก : Youtube : DonutMedia