ล่าสุดได้มีข่าวใหญ่ในวงการยานยนต์ของไทย เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่าง Toyota ถูกศาลฎีกาตัดสินให้แพ้คดี และต้องชำระค่าปรับกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท จากกรณีการนำเข้าชิ้นส่วนที่ใช้ประกอบรถยนต์ Toyota Prius ในปี 2010-2012
โดยปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่ Toyota ได้นำเข้าชิ้นส่วนจากประเทศญี่ปุ่น และได้ข้อเข้าร่วมโครงการความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น (JTEPA) เพื่อลดอัตราอากรขาเข้าในการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ Prius ซึ่งจะส่งผลให้โตโยต้าได้สิทธิพิเศษทางภาษี ลดอัตราภาษีจากปกติที่ร้อยละ 80 เป็นร้อยละ 30 โดยแม้ข้อแม้ว่าชิ้นส่วนที่นำเข้ามาในประเทศจะต้องเป็นเพียงชิ้นส่วนรถยนต์ที่แยกชิ้นมา ไม่สามารถนำเข้ามาเป็นลักษณะชิ้นส่วนที่ประกอบมาแล้วบางส่วน หรือชิ้นส่วนที่พร้อมใช้งานในทันที
แต่ทาง Toyota ได้มีการนำชิ้นส่วนในลักษณะที่ประกอบมาแล้วบางส่วนเข้ามาในประเทศไทย เนื่องจากหน่วยงานราชการของไทยที่เกี่ยวข้องได้อนุมัติการใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าว ซึ่งผิดเงื่อนไขของข้อกำหนดดังกล่าว โดยทาง Toyota ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีไปแล้ว ศาลฎีกาจึงตัดสินให้โตโยต้าต้องชำระค่าปรับจากสิทธิประโยชน์ที่ได้ไป ซึ่งคิดเป็นเงินไทยอยู่ที่ราวๆ 1.1 หมื่นล้านบาท
โดยหลังจากที่ศาลฎีกาได้ออกคำตัดสินมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทาง โตโยต้า ประเทศไทย ก็ได้ออกแถลงการบนเว็ปไซต์ของตนเอง โดยมีเนื้อหาใจความดังต่อไปนี้
“บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (“บริษัทฯ”) ขอแสดงความเคารพต่อคำพิพากษาของศาลฎีกาในวันนี้ ทั้งนี้ คดีดังกล่าวนี้มีประเด็นเกี่ยวกับการตีความข้อกฎหมายซึ่งยังไม่เคยมีการวินิจฉัยมาก่อน และเป็นประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์และข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น กล่าวคือ บริษัทฯ ได้ใช้สิทธิประโยชน์ตามอนุสัญญาระหว่างสองประเทศ ที่เรียกว่าความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น (JTEPA) เพื่อลดอัตราอากรขาเข้าในการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์พรีอุส ซึ่งในปี 2553 หน่วยงานราชการของไทยที่เกี่ยวข้องได้อนุมัติการใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวแล้ว บริษัทฯ จึงมีความเชื่อมั่นมาโดยตลอดว่า บริษัทฯ ได้ดำเนินการตามข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าสินค้าดังกล่าวอย่างถูกต้องมาโดยตลอด
อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2555 กรมศุลกากรได้ตีความกฎการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์พรีอุสในแนวทางซึ่งแตกต่างไปจากเดิม ซึ่งทำให้บริษัทฯ มีภาระภาษีและอากรขาเข้าเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก คำพิพากษาของศาลฎีกาในวันนี้ได้ตีความในแนวทางเดียวกันกับการตีความของกรมศุลกากร ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ ได้รับสำเนาคำพิพากษาของศาลฎีกาแล้ว บริษัทฯ จะศึกษารายละเอียดของคำพิพากษา และปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ต่อไป
บริษัทฯ ขอยืนยันว่า บริษัทฯ ยึดมั่นที่จะประกอบธุรกิจของบริษัทฯ ให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องทุกประการ โดยบริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ในไทยและพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อให้ลูกค้าในประเทศไทยได้รับความพึงพอใจสูงสุด และเพื่อส่งเสริมพันธกิจขององค์กรในการขับเคลื่อนความสุขสู่สังคมไทย”