ถึงแม้ว่าทางภาครัฐจะประกาศค่าเงินเฟ้อประจำเดือน เมษายน 2565 อยู่ที่ 4.65% ซึ่งมีสาเหตุมาจากการปรับขึ้นของราคาพลังงาน อาหารสด และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น แต่ก็ยังไม่กระทบต่อ ยอดขายรถยนต์ ในประเทศไทย โดยในเดือน เมษายน ที่ผ่านมาตลาดรถยนต์ไทยมียอดขายโต 9.1 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ตลาดรถยนต์นั่งยังคงคึกคักยอดขายโตถึง 20.6% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว
ตลาดรถยนต์เดือนเมษายน 2565 มียอดขายรถยนต์ 63,427 คัน เพิ่มขึ้น 9.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยตลาดรถยนต์นั่งมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 20.6% ส่วนตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์มีอัตราการเจริญเติบโตเช่นเดียวกันที่ 4.4% เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ในประเทศไทยเริ่มคลี่คลาย ทำให้ผู้บริโภคกลับมาใช้ชีวิตในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เกือบเป็นปกติ โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญในช่วงเดือนนี้ได้แก่ ยอดจองรถในงาน บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 34 ที่มีมากถึง 31,896 คัน
สรุปยอดขายรถยนต์ ประจำเดือน “เมษายน” 2565
1. ตลาดรถยนต์รวม ปริมาณการขาย 63,427 คัน เพิ่มขึ้น 9.1%
อันดับที่ 1 โตโยต้า 21,681 คัน เพิ่มขึ้น 13.2% – คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 34.2%
อันดับที่ 2 อีซูซุ 6,595 คัน เพิ่มขึ้น 11.0% – คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 26.2%
อันดับที่ 3 ฮอนด้า 5,107 คัน ลดลง 5.8% – คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 8.1%
2. ตลาดรถยนต์นั่ง ปริมาณการขาย 20,492 คัน เพิ่มขึ้น 20.6%
อันดับที่ 1 โตโยต้า 6,901 คัน เพิ่มขึ้น 39.2% – คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 37.8%
อันดับที่ 2 ฮอนด้า 3,969 คัน ลดลง 10.5% – คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 21.7%
อันดับที่ 3 ซูซูกิ 2,045 คัน เพิ่มขึ้น 18.0% – คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 11.2%
3. ตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน (Pure Pick up และ รถกระบะดัดแปลง PPV) ปริมาณการขาย 33,629 คัน เพิ่มขึ้น 3.1%
อันดับที่ 1 อีซูซุ 15,451 คัน เพิ่มขึ้น 13.2% – คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 45.9%
อันดับที่ 2 โตโยต้า 12,605 คัน เพิ่มขึ้น 1.4% – คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 37.5%
อันดับที่ 3 ฟอร์ด 2,529 คัน ลดลง 8.9% – คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 7.5%
*ปริมาณการขายรถกระบะดัดแปลง PPV (ในตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน) 4,559 คัน
โตโยต้า 2,199 คัน – อีซูซุ 1,302 คัน – มิตซูบิชิ 641 คัน – ฟอร์ด 318 คัน – นิสสัน 99 คัน
ตลาดรถยนต์ในเดือนพฤษภาคมมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะเข้าสู่ช่วงฤดูฝนที่เป็น “Low season” แต่ยังได้รับแรงส่งจากตัวเลขการส่งมอบรถที่รับจองในช่วงมอเตอร์โชว์ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ส่วนปัจจัยบวกที่สำคัญอย่างยิ่งในช่วงนี้ ได้แก่ การที่ผู้บริโภคเริ่มคลายความกังวลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ที่กำลังจะได้รับการประกาศให้เป็น “โรคประจำถิ่น” โรงเรียนเริ่มเปิดให้นักเรียนกลับเข้าห้องเรียน รวมทั้งการออกจากบ้านมาทำงานของประชาชนทุกสาขาอาชีพ ล้วนผลักดันเศรษฐกิจโดยรวมให้ฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ และส่งผลต่อความต้องการใช้รถยนต์ของผู้บริโภคให้เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ขอบคุณข้อมูลจาก : TOYOTA
รับชมข่าวสารยานยนต์ที่น่าสนใจอื่นๆ คลิกที่นี่
รับชมคลิปวีดีโอทดสอบรถของเรา คลิกที่นี