เครื่องยนต์โรตารี่ อีกหนึ่งเสน่ห์ที่นักเลงรถยุค 90s ให้ชื่นชอบและอยากมีไว้ครอบครองสักคัน เพราะด้วยเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ น้ำหนักเครื่องยนต์ที่เบา และความแรงแบบจัดเต็ม แต่ทำไมเครื่องยนต์โรตารี่ถึงได้หายไปจากรถยนต์สมัยใหม่ วันนี้ทีมงาน Carvariety จะมาทุกท่านย้อนเวลาไปรู้จักกับเครื่องยนต์ชนิดนี้ ว่าในยุคนั้นมันเจ๋งสุดยอดขนาดไหน
เครื่องยนต์ Rotary ไม่ได้ถูกคิดค้นโดย Mazda !!
หลายๆคนเข้าใจว่า เครื่องยนต์โรตารี่ คิดค้นและพัฒนาโดย Mazda ซึ่งความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ครับ เพราะเครื่องยนต์ชนิดนี้ถูกคิดต้นขึ้นในช่วงยุค 1920 โดยวิศวกรชาวเยอรมันชื่อ Felix Wankel โดยเขาได้จดสิทธิบัตรของเครื่องยนต์ตัวนี้ไว้ ก่อนที่จะเข้าร่วมกับบริษัท NSU Motor (ภายหลังถูก Audi เข้าซื้อกิจการ) ในช่วงยุคปี 1950 โดยในยุคนี้จะเรียกเครื่องยนต์ชนิดนี้ว่า เครื่องยนต์ Rotary Wankel ตามชื่อของผู้ที่คิดค้นมันขึ้นมานั่นเอง
หลักจากที่ NSU Motor เริ่มพัฒนาเครื่องยนต์ชนิดนี้ พวกเขากลับพบปัญหาและข้อจำกัดของเครื่องยนต์ชนิดนี้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น การสึกหรอบริเวณห้องสูบ , อัตราการบริโภคน้ำมันที่สูง รวมถึงการจัดการความร้อนของเครื่องยนต์ จนทำให้ในที่สุด NSU Motor ประกาศขายสิทธิบัตรให้กับบริษัทรถยนต์ที่สนใจเป็นจำนวนมาก โดยได้มีบริษัทรถยนต์หลากหลายแบรนด์จากภูมิภาคยุโรปและเอเชียให้ความสนใจ รวมถึง Mazda ที่ได้ทำการซื้อสิทธิบัตรของเครื่องยนต์ตัวนี้ กลับมาพัฒนาต่อที่ประเทศญี่ปุ่น
จุดเริ่มต้นความยิ่งใหญ่ของเครื่องยนต์ Rotary
Mazda ได้รวมวิศวกรหนุ่มไฟแรง 47 ชีวิตเพื่อเป็นกำลังพลในการวิจัยเครื่องยนต์ชนิดนี้โดยเฉพาะ เพื่อชุบชีวิตเครื่องยนต์โรตารี่ขึ้นมาใหม่ ซึ่งปัญหาใหญ่ที่พวกเขาเจอนั่นก็คือ รอยสะเก็ด ซึ่งเกิดจากการหมุนขอโรเตอร์ลูกสูบ เสียดสีกับผนังของห้องสูบ จนวิศวกรหลายๆคนเรียกนี้ว่า Devil’s nail marks หรือ รอยเล็บปีศาจนั่นเอง
หลังจากที่วิศวกรของ Mazda พัฒนาข้อบกพร่องนี้จนตัวเครื่องยนต์สามารถใช้งานได้จริงในปี 1967 พวกเขาจึงเข็นรถรุ่นแรกที่ใช้ขุมพลัง Rotary ออกมาขายซึ่งมันมีชื่อว่า Mazda Cosmo Sport โดยมันมาพร้อมกับขุมพลัง Rotary แบบ 2 โรเตอร์ ให้กำลังสูงสุด 110 แรงม้า (PS) ซึ่งรถคันนี้ถือได้ว่าเป็นรถยนต์ Production คันแรกของโลกที่ใช้ขุมพลังโรตารี่ และมันได้รับเสียงตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากผู้ใช้งาน
พัฒนาอย่างต่อเนื่อง !!
หลังจากการมาถึงของ Mazda Cosmo Sport พวกเขายังคงพัฒนาเครื่องยนต์ชนิดนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเครื่องยนต์โรตารี่นั้นถูกใช้ในรถยนต์ของมาสด้าหลากหลายรุ่น ไม่ว่าจะเป็น Mazda R100 (1970-1972) , Mazda RX2 (1970–1974) , Mazda RX3 และ RX4 (1972–1974) , Mazda Luce (1972-1980) และรถยนต์มาสด้ารุ่นอื่นๆอีกมากมาย
ยุครุ่งเรืองของเครื่องยนต์ Rotary
ในช่วงปี 1980 ถึงยุค 2000 ถือได้ว่าเป็นช่วงที่เครื่องยนต์โรตารี่บูมสุดๆ เพราะการมาถึงของ Mazda RX-7 (FB) สุดยอดสปอร์ตสองประตูที่สร้างชื่อให้กับมาสด้าอย่างมากมาย ด้วยการคว้าชัยในการแข่งขันหลากหลายรายการในช่วงปี 1982-1983 ก่อนที่มาสด้าจะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ด้วยการส่งรถแข่ง Mazda 787B ลงแข่งขันในรายการ 24 Hours of Le Mans และมันสามารถคว้าชัยชนะการแข่งขันสุดโหดนี้ได้ในปี 1991 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่นที่สามารถคว้าแชมป์ในรายการนี้ได้
ต่อมา Mazda ได้เปิดตัว RX-7 (FC3S) ซึ่งมันได้เสียงตอบรับที่ดีพอสมควร จนกระทั่งการมาถึงของ RX-7 (FD3S) ซึ่งได้รับปรับโฉมครั้งใหญ่ โดยตัวรถมีดีไซน์ที่โค้งมนและโฉบเฉี่ยวกว่ารุ่นก่อนหน้าเป็นอย่างมาก รถรุ่นนี้จึงได้กระแสตอบรับอย่างถล่มทลาย โดยมันมาพร้อมกับขุมพลังโรตารี่รหัส B13-REW ขนาดความจุเพียง 1.3 ลิตร แต่ให้กำลังแรงม้าสูดสุด 255 แรงม้า (PS)
จุดยุครุ่งเรืองสู่จุดตกต่ำ และจุดจบ !!
หลังจากประสบความสำเร็จกับ RX-7 (FD3S) อย่างล้นหลาม มาสด้าได้ตัดสินใจเปิดตัว Mazda RX-8 ในปี 2002 ซึ่งกลับกลายเป็นว่ารถรุ่นนี้ไม่ได้รับนิยมเท่าที่ควร อาจจะด้วยดีไซน์ของตัวรถที่ดูแปลกตาและดูไม่สวยเท่ารุ่นพี่
อีกทั้งยังมีการออกกฎหมายควบคุมมลพิษไอเสียที่มีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้นของฝั่งยุโรป ซึ่งมีข้อกำหนดว่ารถยนต์ที่ขายในแต่ละประเทศนั้นจะต้องมีการปล่อยไอเสียไม่เกินค่าที่กำหนด ซึ่งจุดนี้ถือได้ว่าเป็นข้อเสียโดยตรงของเครื่องยนต์โรตารี่เลยก็ว่าได้ ทำให้ Mazda RX-8 ทำยอดขายได้ไม่ดีนัก จนกระทั่งในปี 2011 มาสด้าได้ตัดสินใจยุติสายการผลิตสปอร์ตขุมพลังโรตารี่ลงในที่สุด แต่ยังมีการส่งท้ายด้วยรุ่น RX-8 Spirit R ซึ่งได้รับการตกแต่งและอัพเกรดเป็นพิเศษ เป็นการปิดท้ายตำนาน 44 ปีของขุมพลังโรตารี่จากมาสด้าลงอย่างสมบูรณ์แบบ
เราก็ได้แต่หวังว่าสักวัน Mazda จะนำขุมพลังโรตารี่กลับมาใช้ใหม่อีกครั้งในอนาคต ซึ่งมีความเป็นได้สูง เพราะทางผู้ผลิตออกมายืนยันว่าในขณะนี้พวกเขากำลังพัฒนาเครื่องยต์โรตารี่ลูกใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยังคงให้พละกำลังสะใจขาซิ่งอย่างแน่นอน
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : mazda.com / wikipedia.org / motor1 / motortrend.com / www.motorpasion.com / www.carnichiwa.com