fbpx

เผย 5 อันดับถนนที่รถติดมากที่สุดในไทยประจำปี 2561

จส.100 เปิดเผย 5 อันดับถนนที่มีรถติดมากที่สุดในประเทศไทยประจำปี 2561 หล้งจากได้รวบรวมข้อมูลถนนที่ได้รับแจ้งสภาพการจราจรติดขัดมากที่สุดในปี 61 โดยข้อมูลดังกล่าวมาจากการรับแจ้งจากภาคประชาชนทาง Call Center โทร.1137 และ *1808 ,ช่องทางออนไลน์ที่ ทวิตเตอร์ @js100radio เฟซบุ๊คJS100Radio และ LINE @js100 ดังนี้

ถนนลาดพร้าว
จากงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง ที่เริ่มดำเนินการเปิดผิวการจราจรก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้าในปีนี้ ส่งผลให้สภาพการจราจรบนถนนลาดพร้าวติดขัดมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากเดิมที่ปริมาณรถหนาแน่นเป็นปกติอยู่แล้วด้วยกายภาพของถนนที่มีตรอกซอกซอยและชุมชนพักอาศัยอยู่จำนวนมาก สำหรับจุดที่สร้างวิกฤตจราจรอยู่บ่อยครั้ง คือ บริเวณแยกภาวนา และลาดพร้าว 130 ที่หลายครั้งส่งผลกระทบไปถึงด้านถนนรัชดาภิเษก ถนนรามคำแหง และถนนศรีนครินทร์

ถนนรามคำแหง
ส่วนหนึ่งได้รับของกระทบต่อเนื่องมาจากถนนลาดพร้าว ฝั่งขาเข้า ท้ายแถวสะสมเข้ามาที่แยกลำสาลี ต่อเนื่องถนนรามคำแหง ขาออก ขณะเดียวกันบนถนนรามคำแหงยังเป็นพื้นที่ก่อสร้างของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี ส่งผลกระทบต่อสภาพการจราจรทั้งพื้นราบและทางยกระดับ เนื่องจากต้องปิดเบี่ยงช่องทางหลายจุด อาทิ การสลับใช้ทางยกระดับรามคำแหงฝั่งขาเข้าและขาออกในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าเย็น การเบี่ยงการจราจรบริเวณหน้าโรงแรมอเล็กซานเดอร์ การเบี่ยงการจราจรบริเวณแยกบิ๊กซีรามคำแหง

ถนนศรีนครินทร์
เป็นอีกเส้นทางที่ได้รับผลกระทบจากงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว – สำโรง เนื่องจากเดิมถนนศรีนครินทร์มีช่องทางจราจรฝั่งละ 3 – 4 ช่องทาง แต่เมื่อมีแนวก่อสร้างหลายจุดคงเหลือ 1 – 2 ช่องทางจราจร ทำให้ปริมาณรถที่มีปริมาณมากเป็นปกติอยู่แล้วเหลือพื้นที่วิ่งน้อยลง โดยเฉพาะทางเลี้ยวตามแยกต่างๆ ทางตรงต้องติดพร้อมกับรถที่รอเลี้ยว เช่น แยกศรีนุช รวมถึงบริเวณที่ใกล้โซนห้างสรรพสินค้ายิ่งทำให้เกิดปัญหาคอขวดมากขึ้น

รามอินทรา – แจ้งวัฒนะ
เป็นเส้นทางก่อสร้างในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู มีนบุรี – แคราย ซึ่งมีการปิดการจราจรแล้วหลายจุดส่งผลให้ลักษณะทางกายภาพของถนนเป็นคอขวด จาก 3-4 ช่องทาง คงเหลือ 1-2 ช่องทาง อาทิบริเวณ กม.1 สนามกีฬากองทัพบก, กม.3 ใกล้ศูนย์การค้าบิ๊กซี, กม.4 แยกมัยลาภ, กม.8 แยกคู้บอน ส่งผลกระทบจากสภาพการจราจรทำให้มีท้ายแถวเข้ามาบน
ถนนแจ้งวัฒนะ ขณะเดียวกันบนถนนแจ้งวัฒนะ ก็มีเปิดพื้นที่แนวก่อสร้าง บริเวณศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ, ศูนย์การค้าบิ๊กซี ใกล้ทางเข้าโรงพยาบาลพระมงกุฎวัฒนะ, อาคาร CP ALL Academy ส่งผลกระทบด้านสภาพการจราจรทำให้รถไม่สามารถลงจากทางพิเศษศรีรัชได้

ติวานนท์
หนึ่งในเส้นทางก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู มีนบุรี – แคราย เช่นกัน หากจำกันได้วันแรกที่เริ่มเบี่ยงการจราจรบริเวณหน้าโรงพยาบาลหูตาคอจมูก ส่งผลกระทบให้ถนนงามวงศ์วานและถนนรัตนาธิเบศร์ติดขัดอย่างหนักเพราะไม่สามารถผ่านแยกแครายได้ ขณะเดียวกันแนวก่อสร้างทางแยกสนามบินน้ำ และหน้ากรมชลประทาน ก็ถูกจำกัดช่องทางเหลือเป็นคอขวดเช่นกัน ถือเป็นเส้นทางที่หากไม่จำเป็นควรหลีกเลี่ยงเป็นอย่างยิ่ง

ขณะเดียวกันบนถนนเส้นทางหลักที่มีปัญหาการจราจรติดขัดอยู่แล้วอย่างถนนสุขุมวิท ถนนเพชรบุรี ถนนวิภาวดีรังสิต ถนนสาทร ถนนพระราม 4 และถนนรัชดาภิเษก ก็ยังคงติดขัดเช่นเดิม เพียงแต่เส้นทางเหล่านั้นอาจมีทางเลือกอื่นๆมากกว่า เช่น การใช้ทางพิเศษ และการใช้บริการรถไฟฟ้า ทั้งนี้เชื่อว่า 5 เส้นทางที่กล่าวมาข้างต้นนั้น หากงานก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้บริการรถไฟฟ้าได้ ปัญหาการจราจรบนท้องถนนก็คงจะลดลงไป แต่ระหว่างที่มีงานก่อสร้างก็ขอให้ชาวกรุงเทพฯยอมอดทนและเสียสละเพื่ออนาคตที่ดีกว่า หากเป็นไปได้ก็ช่วยกันลดการใช้รถส่วนบุคคล หันมาใช้การขนส่งสาธารณะอื่นๆแทน เช่น รถไฟฟ้า เรือโดยสาร รถโดยสาร คงจะช่วยได้เยอะ

บทความที่น่าสนใจ

หลังจากร่วมทุน Koenigsegg ประกาศผลิตซุปเปอร์คาร์-ไฮบริด ราคาถูก ออกมาให้แฟน ๆ ได้เชยชม

idiot

Nissan Kick e-Power มดขึ้นแบตเตอรี่ ประกันไม่รับผิดชอบ จ่ายเองจุกๆ 180,000 บาท

Nopkung

ไหงเป็นงั้น เมื่อระบบป้องกันการหลับในรถ XPeng จับได้ว่าผู้ขับที่มีดวงตาเล็ก มีอาการหลับใน

Nopkung

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy