เครื่องยนต์ที่ถูกติดตั้งอยู่ในห้องเครื่อง ไม่ว่าจะถูกวางตามแนวขวางหรือวางตามแนวยาวก็ตาม ตัวเครื่องยนต์จะต้องถูกยึดอย่างมั่นคง โดยมียางแท่นเครื่องเป็นตัวยึดเข้ากับตัวถังหรือซับเฟรม ซึ่งยางรองแท่นเครื่องนี้จะทำหน้าที่ช่วยลดแรงสั่นสะเทือนขณะที่เครื่องยนต์หมุน แต่เมื่อใช้รถไปนาน ๆ ปัญหาที่หนีไม่พ้น คือการหมดสภาพหรือการฉีกขาดของยางแท่นเครื่อง ซึ่งยางแท่นเครื่องส่วนใหญ่ผลิตมาจากยางสังเคราะห์ โดยต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสมคือ แข็งแรงพอจะรับน้ำหนักของเครื่องยนต์กับเกียร์ได้ ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความยืดหยุ่นพอที่จะช่วยลดแรงสั่นสะเทือนที่เกิดจากการทำงานของเครื่องยนต์ แต่ก็ต้องไม่นิ่มเกินไปจนทำให้เครื่องยนต์และเกียร์โยกตัวได้มากเมื่อมีแรงกระทำจากภายนอก เช่น แรงกระชากขณะออกตัวและแรงเฉื่อยจากการเบรก เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมียางแท่นเครื่องแบบไฮดรอลิค ซึ่งภายในยางแท่นเครื่องแบบนี้จะบรรจุไว้ด้วยน้ำมันที่มีความหนืดสูง ซึ่งจะเป็นตัวช่วยซับแรงสั่นสะเทือนจากเครื่องยนต์ได้ดีกว่ายางแท่นเครื่องที่ทำจากยางสังเคราะห์แบบธรรมดา แต่ราคาก็จะแพงกว่ากันอีกประมาณเท่าตัว แถมเวลาเสียก็ซ่อมไม่ได้ ต้องเปลี่ยนสถานเดียว
แบบไฮเทคคุมด้วยไฟฟ้า พัฒนาเหนือชั้นขึ้นมาอีกขั้นจากกระเปาะน้ำมันไฮดรอลิก ควบคุมการยืดหยุ่นด้วยไฟฟ้า ปรับความแข็งอ่อนให้เหมาะสมกับสภาพการทำงานของเครื่องยนต์ เท่าที่พบเป็นการใช้ไฟฟ้าควบคุมมอเตอร์ขนาดเล็กหรือโซลินอยด์วาล์ว ทำการหรี่ขนาดของรูที่น้ำมันไฮดรอกลิกให้ไหลไปมายาก หรือง่าย คล้ายกับโช้กอัพที่ปรับความหนืดด้วยไฟฟ้า มีรถยนต์น้อยรุ่นที่นำมาใช้ แต่ในอนาคตก็คงจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเริ่มมีต้นทุนต่ำลง ได้ผลลดการสั่นสะเทือนได้ดี และไม่ได้ใช้ครบ 4 ตัวในรถยนต์ 1 คัน แต่มักจะใช้ตัวเดียว เช่น ตัวหน้าใกล้กับหม้อน้ำ ป้องกันการกระดกหน้า-หลังของเครื่องยนต์
สำหรับยางแท่นเครื่องที่ใช้ในรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ที่เป็นรถขับเคลื่อนล้อหน้า โดยปกติจะมีอยู่ 4 ตัว โดยติดตั้งไว้ที่ด้านหน้ารถยนต์บริเวณใกล้หม้อน้ำ 1 ตัว บริเวณใกล้ผนังห้องเครื่องยนต์ 1 ตัว โดยที่ยางแท่นเครื่อง 2 ตัวนี้ จะใช้ป้องกันเครื่องยนต์กระดกในแนวหน้าและหลัง ส่วนยางแท่นเครื่องอีก 2 ตัวที่เหลือจะถูกติดตั้งใกล้กับซุ้มล้อหน้าทั้ง 2 ข้างแถว ๆ สายพานหน้าเครื่องยนต์และเสื้อเกียร์อีกด้านละตัว ทำหน้าที่ป้องกันเครื่องยนต์โยกซ้ายและขวา ในรถบ้างรุ่นอาจมียางแท่นเครื่องมากถึง 5 ตัว ช่วยให้รถนิ่งขึ้นขณะเครื่องยนต์ทำงานที่รอบต่ำ
ส่วนอาการที่จะเกิดขึ้นกับรถเมื่อยางแท่นเครื่องขาด นั้นสามารถสังเกตได้ไม่ยาก คือ เวลาที่เราสตาร์ตเครื่องยนต์แล้วมีอาการแสดงออกหลายอย่าง เช่น ขณะที่มอเตอร์สตาร์ทหมุนเครื่องยนต์ รถมีอาการกระชากตัวอย่างแรง หรือขณะที่อยู่ในช่วงรอบเดินเบา (ช่วงที่ไม่ได้เหยียบคันเร่ง รอบเครื่องประมาณ 700-800 รอบ/นาที) รถมีอาการสั่นสะท้านมากกว่าปกติ แต่พอเหยียบคันเร่งให้รอบเครื่องยนต์สูงขึ้น (ประมาณ 1,000 รอบ/นาที) อาการสั่นสะท้านก็จะหายไป หรือเวลาที่เข้าเกียร์แล้วรถมีอาการกระตุกก็เป็นไปได้เช่นกันที่ลูกยางแท่นเครื่องจะขาด
การดูแลรักษายางแท่นเครื่อง คือ เวลาเจอหลุม เจอเนิน หรือทางที่ขรุขระ รวมทั้งพวกลูกระนาดต่างๆ ควรใช้ความเร็วต่ำ เพื่อช่วยยืดอายุการใช้งานลูกยางแท่นเครื่องให้ยาวนานขึ้น แต่ก็ไม่ต้องไปกังวลมาก เพราะโดยทั่วไปยางแท่นเครื่องมีอายุการใช้งานประมาณ 100,000 กม. และฉีกขาดได้เองเป็นเรื่องปกติ ซึ่งแม้ว่าจะเกิดขาดขึ้นมา กลางทาง รถก็ยังวิ่งต่อได้ กลับมาถึงบ้านแล้วค่อยเอาไปซ่อมก็ไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งการเปลี่ยนยางแท่นเครื่องไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก แค่ให้ช่างจัดการเปลี่ยนโดยไม่ต้องยกเครื่องออกให้เสียเวลา และถ้ามีอะไหล่พร้อมก็ใช้เวลาเปลี่ยนไม่เกินครึ่งวันเท่านั้น
สาเหตุที่รถยนต์ต้องมียางแท่นเครื่อง เพราะในการออกตัว หรือการเบรค เครื่องยนต์จะมีอาการโยนตัวไปมา จึงจำเป็นต้องมียางสังเคราะห์เพื่อซับแรงสั่นสะเทือน โดยเฉพาะการสั่นสะเทือนเข้ามาภายในห้องโดยสาร ทำให้เกิดความรำคาญเป็นอย่างมาก หนักข้อเข้าก็อาจถึงขั้นทำให้ชิ้นส่วนรถยนต์เสียหาย
วิธีสังเกตยางแท่นเครื่องเสื่อมสภาพ อาการยางแท่นเครื่องเสื่อมสภาพ เราจะเห็นอาการตั้งแต่จอดรถติดเครื่องยนต์ และเปิดเครื่องปรับอากาศในรถรอให้คอมแอร์ทำงาน จะสังเกตได้ว่าเครื่องยนต์จะสั่นอย่างเห็นได้ชัดเจน และจะลดอาการสั่นเมื่อคอมแอร์ตัดการทำงาน จากนั้นลองใส่เกียร์ D หรือเกียร์ R ปล่อยให้รถไหลออกตัวช้าๆ ค่อยๆ เหยียบเบรค ก็จะเห็นอาการเครื่องยนต์ที่สั่นสะเทือน (รวมทั้งกระเป๋าเงินคุณก็จะเริ่มสะเทือนด้วยเช่นกัน) เพราะยางแท่นเครื่องนั้นจะมีราคาค่อนข้างสูงหากเปลี่ยนของแท้ที่ศูนย์บริการ แค่รถเก๋งซิตี้คาร์ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายอย่างต่ำประมาณ 5,000 บาท (รวมค่าแรง) หากครั้งนั้นคุณไปถ่ายน้ำมันเครื่องด้วยก็จะต้องเสียเงินร่วม 7,000 บาท เลยทีเดียว แต่คุณสามารถเช็กราคาก่อนซ่อมได้ที่ศูนย์บริการ หรือที่อู่นอกเพื่อคำนวณค่าใช้จ่ายก่อนได้
ควรเปลี่ยนยางแท่นเครื่องเมื่อไหร่? โดยปกติแล้วทางศูนย์บริการจะให้เปลี่ยนตั้งแต่ก่อนระยะ 100,000 กม. แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับคุณด้วยว่าจะเปลี่ยนหรือไม่ เพราะถ้าคุณไม่ได้ใช้รถถึงขนาดขึ้นเขาลงห้วยเส้นทางเป็นหลุมเป็นบ่อเป็นประจำ ถ้าอาการสั่นยังไม่ออกชัดเจน หรือเห็นว่ายังไม่สึกหรอมาก ก็ยังไม่ต้องเปลี่ยนในทันที ยังพอมีเวลาเก็บเงินไว้เปลี่ยนในครั้งหน้า ส่วนใครที่รักษาดูแลรถเป็นอย่างดีจับอาการรถเก่งจะเปลี่ยนตามที่ศูนย์บริการแนะนำก็ได้
หากไม่เปลี่ยน ไม่อันตรายในการขับ แต่จะส่งผลให้ยางแท่นเครื่องตัวอื่นเสียตามไปด้วย เพราะมีการขยับตัวได้มากเกินไป และหากนานๆ เข้าอาจส่งผลกระทบต่อเครื่องยนต์ และส่วนอื่นๆ ตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ แทนที่จะเสียสตางค์ไม่เท่าไหร่อาจต้องควักกระเป๋าเพิ่มโดยไม่จำเป็น ซึ่งยางแท่นเครื่องก็เหมือนชิ้นส่วนอื่นๆ ของรถยนต์ที่ต้องมีการสึกหรอตามอายุการใช้งาน ถ้าอยากให้ยางแท่นเครื่องมีอายุยาวนานขึ้น คงจะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมในการขับรถของคุณดังที่กล่าวในเบื้องต้นไปแล้วด้วยเช่นกัน เพราะไม่ใช่แค่ช่วงล่าง ยางรถ โช๊คอัพ ลูกหมาก ปีกนก ที่เสียหายยังรวมไปถึงยางแท่นเครื่องอีกด้วย