ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์มูลค่า 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐของไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตอย่างหนัก เนื่องจากผู้บริโภคในประเทศที่แบกรับภาระหนี้สินจำนวนมากประสบปัญหาในการผ่อนชำระค่างวดรถ ประกอบกับแนวโน้มความต้องการรถยนต์แบบดั้งเดิมจากต่างประเทศที่ลดลง ขณะที่กระแสความนิยมรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ระบุตลาดรถไฟฟ้าจีนไม่ช่วยพยุงอุตสาหกรรม
วิกฤตดังกล่าวบีบให้ผู้ประกอบการต้องปรับลดกำลังการผลิตและจำนวนพนักงานลง เห็นได้จากกรณีของ Techno-Metal ผู้ผลิตชิ้นส่วนโครงสร้างใต้ท้องรถให้กับค่ายรถญี่ปุ่นอย่าง Toyota และ Mitsubishi มานานกว่า 30 ปี ที่ปัจจุบันกำลังการผลิตของโรงงาน 2 แห่งในจังหวัดชลบุรี ลดลงเหลือเพียง 40% ของกำลังการผลิตสูงสุด พร้อมกับจำนวนแรงงานที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
นางณัฐพร ชีวพรพิมล รองผู้จัดการทั่วไป Techno-Metal เปิดเผยว่า “ช่วงปลายปีที่แล้ว เรามีพนักงานราว 1,200 คน แต่ตอนนี้เหลือเพียง 900 คน เราต้องลดชั่วโมงการทำงานลงเหลือ 75% และตัดโอทีออกไปด้วย”
ยอดผลิตรถยนต์ไทยลดลงต่อเนื่อง คาดปีนี้ผลิตได้ 1.7 ล้านคัน
ข้อมูลจากสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ระบุว่า การผลิตรถยนต์ในไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดปีที่ผ่านมา โดยในเดือนสิงหาคม 2567 ปรับตัวลดลงถึง 20.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนยอดขายภายในประเทศก็ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 14 ปี
สำหรับแนวโน้มการผลิตรถยนต์ในปี 2567 นี้ ทางอุตสาหกรรมคาดการณ์ว่าจะผลิตได้ราว 1.7 ล้านคัน ลดลงจาก 1.9 ล้านคันในปี 2566 โดยแบ่งเป็นยอดขายในประเทศ 5.5 แสนคัน และส่งออกราว 1.15 ล้านคัน
นายฮาจิเมะ ยามาโมโตะ หัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษา Nomura Research Institute ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “นี่ถือเป็นวิกฤตที่ค่อนข้างรุนแรง และไม่มีทางออกที่ง่ายเลย เนื่องจากตลาดในประเทศที่ซบเซา ประกอบกับการแข่งขันด้านการส่งออกที่ทวีความรุนแรงขึ้น กำลังบีบรัดภาคยานยนต์อย่างหนัก”
รถไฟฟ้าจีนไม่ช่วยพยุงอุตฯชิ้นส่วนยานยนต์ไทย
แม้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าจะมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากผู้ผลิตรถจีนอย่าง BYD (Build Your Dreams) กว่า 1.44 พันล้านดอลลาร์ แต่ภาคนี้กลับไม่สามารถทดแทนยอดผลิตที่หายไปในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยที่ประกอบไปด้วยผู้ประกอบการราว 2,000 ราย และมีการจ้างงานราว 7 แสนตำแหน่ง
นายสมพล ธนดำรงศักดิ์ นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ระบุว่า “โครงสร้างต้นทุนของไทยสูงกว่าจีนประมาณ 30% ทำให้ธุรกิจไทยไม่สามารถแข่งขันได้”
หนี้ครัวเรือนพุ่งสูง กระทบยอดขายรถใหม่-อัตราผิดนัดชำระเพิ่ม
ปัจจัยสำคัญที่สุดคือภาระหนี้ครัวเรือนกว่า 4.84 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 90.8% ของ GDP ไทย ณ เดือนมีนาคม 2567 ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอัตราส่วนที่สูงที่สุดในเอเชีย ส่งผลให้ยอดขายรถชะลอตัวลงอย่างมาก
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 สถาบันการเงินอนุมัติสินเชื่อรถกระบะเพียง 203,000 สัญญา เทียบกับ 722,000 สัญญาตลอดทั้งปี 2562 ตามข้อมูลจากสำนักงานข้อมูลเครดิตแห่งชาติ
สถานการณ์ด้านสินเชื่อตึงตัวในหลายกลุ่มผู้บริโภค จนทำให้สมาคมผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไทยต้องปรับลดประมาณการยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าลงครึ่งหนึ่งสำหรับปี 2567
ในขณะเดียวกัน ผู้ที่มีรถยนต์อยู่แล้วก็กำลังประสบปัญหาในการผ่อนชำระเช่นกัน
“สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) ของสินเชื่อรถกระบะเริ่มปรากฏในไตรมาสแรกของปี 2565” นายสุรพล โอภาเศียน ผู้อำนวยการสำนักงานข้อมูลเครดิตแห่งชาติ กล่าว พร้อมระบุว่า NPLs พุ่งขึ้น 40% เมื่อเทียบกับปีก่อน มาอยู่ที่ 1.48 แสนล้านบาท
ผู้ประกอบการเร่งหาทางออก ดันรัฐออกนโยบายกระตุ้น
ขณะนี้กลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ กำลังเร่งหาทางออก โดยภาคชิ้นส่วนยานยนต์กำลังผลักดันให้รัฐบาลออกมาตรการจูงใจเพิ่มเติมให้กับผู้ผลิตรถยนต์แบบเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) และรถยนต์ไฮบริดจากต่างประเทศ
“เราต้องการเป็นผู้เล่นรายสุดท้ายในตลาดรถ ICE โดยเฉพาะรถกระบะ และการผลิตรถไฮบริด เพื่อดึงดูดให้ผู้ผลิตรถยนต์ย้ายฐานการผลิตมาที่นี่” นายสมพลจากสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนฯ กล่าว
แหล่งที่มาจาก : bangkokpost