fbpx

ค่ายรถฝันหวาน.! มั่นใจตลาดรถปีหน้าแตะ 9 แสนคัน

ค่ายรถยนต์ประสานเสียง ตลาดรถยนต์ปีนี้ 8.5 แสนคันแน่ หลังยอดขาย 10 เดือนตลาดรวมโต 12% ส่วนปีหน้ามั่นใจตลาดรถยนต์โตอีก 5% ก้าวสู่ 9 แสนคัน ชี้ปัจจัยบวกเพียบ ทั้งภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้น ปัญหาการเมืองที่ค่อนข้างนิ่ง การใช้จ่ายภาครัฐเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น รวมถึงโครงการรถคันแรกที่มีสิทธิขายมีมากถึง 5 แสนคัน ซึ่งมีส่วนช่วยผลักดันยอดขายปีหน้าให้เติบโตยิ่งขึ้น

นายวัลลภ ตรีฤกษ์งาม กรรมการบริหารด้านการขายและการตลาด ซูซูกิ มอเตอร์ ประเทศไทย คาดการณ์ยอดจำหน่ายรถยนต์รวมในปีนี้ว่า จะอยู่ที่ประมาณ 8.5 แสนคัน โดยซูซูกิ คาดว่าจะมียอดขายในปีนี้ที่ 2.406 หมื่นคัน หรือมีส่วนแบ่งการตลาดที่ 3% ตามเป้าที่วางไว้ โดยยอดจำหน่าย 10 เดือนที่ผ่านมา ซูซูกิ มียอดขายมากกว่า 7%

สำหรับตลาดรถยนต์ในปี 2561 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 5% หรืออยูที่ประมาณ 9 แสนคัน เนื่องจากในปีหน้ามีปัจจัยบวกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความชัดเจนด้านนโยบายด้านการเมืองของรัฐบาล การลงทุนภาครัฐในโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการได้เดินหน้าอย่างเป็นทางการ รวมถึงจำนวนผู้ครอบครองรถยนต์ในโครงการรถยนต์คันแรกที่มีสิทธิขายรถยนต์มีมากถึง 5 แสนคัน จะกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยบวกที่ทำให้ตลาดรถยนต์ในปีหน้าเติบโตมากขึ้น

ทั้งนี้ ซูซูกิ ตั้งเป้ายอดจำหน่ายในปี 2561 ว่าจะต้องเติบโตมากกว่า 7% หรือเติบโตมากกว่าปีนี้ เนื่องจากมีแผนจะเปิดตัวรถรุ่นใหม่ออกสู่ตลาดอีกประมาณ 2-3 รุ่น

ฟอร์ดมั่นใจ ตลาดรถโตต่อเนื่อง

นางสาวยุคนธร วิเศษโกสิน ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและฝ่ายขาย ฟอร์ด อาเซียน ก็กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า คาดว่าในปีหน้าตลาดรถยนต์เมืองไทยจะอยู่ที่ประมาณ 9 แสนคัน หรือเติบโตเพิ่มขึ้น 5% จากตลาดรวมในปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 8.5 แสนคัน เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมต่อเนื่องมาจากปีนี้ และค่ายรถยนต์ทยอยเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงรถในโครงการรถคันแรกที่สามารถขายได้

สำหรับผลการดำเนินงานของฟอร์ดในปีนี้นั้น ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยยอดจำหน่าย 10 เดือนที่ผ่านมาฟอร์ดมียอดขายประมาณ 4.3 หมื่นคัน เพิ่มขึ้น 3.7% โดยกระบะฟอร์ด เรนเจอร์ มียอดขายสูงถึง 3.2 หมื่นคัน มีส่วนแบ่งการตลาด 6.4% ในตลาดรถรถยนต์รวมหรือเพิ่มขึ้น 1.2 จุด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าพอใจอย่างยิ่ง แต่หากดูส่วนแบ่งการตลาดเฉพาะตลาด

กระบะ เรนเจอร์มียอดขายเพิ่มถึง 45.6% หรือมีส่วนแบ่งการตลาด 12% จากตลาดรถกระบะโดยรวท ซึ่งเพิ่มจากปีก่อนที่มีส่วนแบ่งการตลาดเพียง 9%

ขณะที่รถกระบะดัดแปลง (PPV) อย่าง ฟอร์ด เอเวอร์เรสต์ มีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น 12% ขณะที่ตลาดรวมรถ PPV ตกลงถึง 6%

นางสาวยุคนธร กล่าวถึงแผนการทำตลาดรถยนต์นั่งฟอร์ด ว่าฟอร์ดยังไม่ทิ้งการทำตลาดรถยนต์นั่ง เพียงแต่ในช่วงเวลานี้กำลังอยู่ในระหว่างการแก้ปัญหาที่เกิดกับลูกค้า ซึ่งคาดว่าปัญหาทั้ง 168 เคสนั้น จะสามารถเคลียร์จบได้หมดในปีนี้

“เราจะรอเวลาที่พร้อมในการทำตลาดรถยนต์นั่งฟอร์ดในประเทศไทย ทั้งในเรื่องของภาพลักษณ์ของบรนด์ ความพร้อมของบริษัทและความพร้อมในด้านอื่นๆ แต่เรายืนยันว่าเราไม่เลิกทำตลาดรถยนต์นั่งอย่างแน่นอน”

นิสสัน แรงสุดคาดปีนี้ตลาดรวมทะลุ 8.7 แสนคัน ปีหน้า 9.2 แสนคัน

นายอันตวน บาร์เตส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวถึงทิศทางรถยนต์ไฟฟ้าของนิสสัน ในไทยว่า นิสสันต้องการแสดงให้คนไทยได้เห็นเทคโนโลยีเกี่ยวกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า จึงได้นำรถยนต์นิสสัน ลีฟ รถยนต์ไฟฟ้า 100% และนิสสัน โน้ต อี-พาววเวอร์ เข้ามาแสดงในงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป 2017 นี้ โดยยนตรกรรมทั้งหมดนี้ เกิดจากการพัฒนาอย่างต่อเนื่องภายใต้แนวคิดอัจฉริยะ “นิสสัน อินเทลลิเจนท์ โมบิลิตี้” ของนิสสัน สำหรับการลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าในประเทศไทยนั้น ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับภาครัฐ และหน่วยงานที่เกียวข้องรวมถึงทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดความพร้อมมากที่สุด

“เรายังไม่สามารถบอกได้ว่าจะจำหน่ายนิสสัน ลีฟ หรือโน้ต อี-พาวเวอร์ ได้เมื่อใด บอกได้แต่เพียงว่าเราจะเตรียมความพร้อมให้มากที่สุดเพื่อที่คนไทยจะได้ใช้เทคโนโลยีที่สะอาด”

ด้านนายรัฐการ จูตะเสน รองประธานสายงานขาย กล่าวว่าในปีนี้ นิสสัน คาดการณ์ตลาดรถยนต์นั่งในปีนี้ไว้ที่ 8.7 แสนคัน ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ของทุกค่ายเนื่องจาก นิสสันมองว่ายอดจำหน่ายในเดือนพฤศจิกายนน่าจะอยู่ที่ประมาณ 8 หมื่นคัน และเดือนธันวาคมน่าจะอยู่ที่ประมาณ 9 หมื่นคัน ซึ่งน่าจะทำให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ในปีนี้สูงถึง 8.7 แสนคัน

ส่วนยอดจำหน่ายรถยนต์ในปีหน้านั้นคาดว่าน่าจะอยู่ที่ 9.2 แสนคัน หรือเติบโต 5% จากภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง และการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆ การลงทุนจากภาครัฐเริ่มส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม

สำหรับยอดจำหน่ายของนิสสัน ในปีนี้มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยยอดจำหน่าย 10 เดือนที่ผ่านมา นิสสันมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นถึง 38.7% โดยรถยนต์ที่มีอัตราการเติบโตมากที่สุดคือรถในกลุ่มอีโคคาร์ ที่มีอัตราการเติบโตถึง 34% โดยนิสสัน มีส่วนแบ่งการตลาดรวมอยู่ที่ประมาณ 7%

มิตซูบิชิ ไม่สนไฮบริด ขอลุย PHEV

นายโมะริคาชุ ซกกิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัดเปิดเผยถึงทิศทางการทำตลาดสินค้าใหม่ๆ ในประเทศไทยว่า มิตซูบิชิ มีความสนใจจะทำตลาดรถยนต์ในกลุ่มเทคโนโลยี Plug-In Hybrid เนื่องจากมิตซูบิชิ มีเทคโนโลยีนี้ ในรถยนต์ OUTLANDER ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดโลก โดยมิตซูบิชิ กำลังศึกษาว่าจะนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใส่ในรถยนต์รุ่นใด ถึงจะเหมาะสมกับการทำตลาดในประเทศไทย แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดใดๆ ในขณะนี้ได้ เพราะยังอยูในระหว่างการศึกษาอยู่

สำหรับการลงทุนในเทคโนโลยีไฮบริดนั้น ทางมิตซูบิชิ ไม่มีความสนใจที่จะลงทุน โดยถ้าหากจะลงทุนก็จะต้องลงทุนในเทคโนโลยี PHEV เท่านั้น

นายซกกิ กล่าวถึงแผนการนำรถยนต์มิตซูบิชิ EXPANDER จากประเทศอินโดนีเซียมาจำหน่ายในประเทศไทยว่า มีความจำเป็นต้องเลื่อนแผนการเปิดตัวในช่วงต้นปีหน้าออกไปก่อน เนื่องจากมิตซูบิชิ EXPANDER ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศอินโดนีเซีย โดยมียอดจองเกินกว่า 4 หมื่นคัน ส่งผลให้เกิดปัญหาในเรื่องการส่งออกไปยังต่างประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย ทำให้ต้องเพิ่มกำลังการผลิตมิตซูบิชิ EXPANDER ขึ้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งประเทศไทย ก็จำเป็นต้องปรับแผนการเปิดตัวใหม่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะเปิดตัว มิตซูบิชิ EXPANDER ได้เมื่อใด

ส่วนยอดจำหน่ายรถยนต์มิตซูบิชิ 10 เดือนที่ผ่านมามียอดจำหน่ายประมาณ 5.4 หมื่นคัน เติบโต 22% มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 7.9-8% ตามเป้าที่ตั้งไว้ ส่วนยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งรวมในปีนี้คาด่าจะอยู่ที่ประมาณ 8.4-8.5 แสนคัน ส่วนปี 2561 คาดว่าตลาดรถยนต์นั่งจะอยู่ที่ประมาณ 9 แสนคันหรือเติบโต 5% โดยมิตซูบิชิตั้งเป้าส่วนแบ่งการตลาดไว้มากกว่า 8%


บทความที่น่าสนใจ

เจาะประเด็น “ค่าการกลั่น” น้ำมันไทย ทำไมแพงขึ้นจากปี 2563 ถึงหลายเท่าตัว !!

Nopkung

เปิดประวัติ Geely จากบริษัทผู้ผลิตตู้เย็น สู่บริษัทยานยนต์ชั้นนำของโลก

Nopkung

มิตซูบิชิ เตรียมเปิดตัว X-pander มินิ MPV กลางปีนี้ ลั่นอีก 4 ปี ขอส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 10%

idiot

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy