fbpx

มารู้จักแบรนด์ BYD รถไฟฟ้าเบอร์ 1 ของโลก กับก้าวแรกบุกตลาดรถยนต์เมืองไทย

BYD หนึ่งในแบรนด์รถยนต์ยักษ์ใหญ่จากประเทศจีน เดินหน้าบุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยอย่างจริงจัง หลังจับมือพันธมิตรภาคเอกชน ประกอบด้วย บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด ให้บริการรถยนต์แท็กซี่ไฟฟ้าวีไอพี 100 คัน ในปีนี้ เดินหน้ารุกตลาดรถไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ ทั้งรถโค้ช รถตู้ขนส่งสินค้าต่อ ส่วนรถยนต์นั่งไฟฟ้าขอรอราคาแบตฯลดลง และรอความพร้อมของตลาด เชื่ออีก 2-3 ปี ได้ขายแน่

สำหรับการทำตลาดรถยนต์ BYD ในประเทศไทยนั้น ทาง บริษัท บีวายดี ออโต้ จำกัด ได้แต่งตั้ง บริษัท ไรเซน เอนเนอร์จี จำกัด ให้เป็นผู้นำเข้าและผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของ BYD ในประเทศไทย โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในกว่า 50 ประเทศที่ BYD ขยายตลาด เพื่อสร้างความเจริญเติบโตให้กับธุรกิจและรักษาความเป็นผู้นำในตลาดยานยนต์ไฟฟ้าของโลก ซึ่งที่ผ่านมา BYD เป็นแบรนด์ที่มียอดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าสูงที่สุดในโลกติดกัน 3 ปี 

บริษัท ไรเซน เอนเนอร์จี จำกัด นั้นเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท ชาริช โฮลดิ้ง จำกัด โดยมีนาย อภิชาติ ลีนุตพงษ์ นั่งในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ซึ่งบริษัท ชาริช โฮลดิ้งนี้ผู้ก่อตั้งคือ อภิชาติ ลีนุตพงษ์ โดยมีทุนจดทะเบียนบริษัทสูงถึง 369,500,000 บาท ด้วยการรวมตัวกันของกลุ่มบริษัทของตระกูลลีนุตพงษ์ ผู้คร่ำหวอดในวงการรถยนต์เมืองไทย มากถึง 5 บริษัท 

ซึ่งบริษัททั้ง 5 ประกอบด้วย 

  1. บริษัท ดูคาทิสติ จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ Ducati จากประเทศอิตาลี 
  2. บริษัท เจเนอร์รัล ออโต้ ซัพพลาย จำกัด ผู้นำเข้าและจำหน่ายรถจักรยานยนต์คลาสสิก Royal Enfield จากประเทศอังกฤษ และ นิว (NIU) สมาร์ท อิเล็คทริก สกูตเตอร์ ยอดขายอันดับหนึ่งของโลก 
  3. บริษัท ทีเอช โรโบติก จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายหุ่นยนต์ทำความสะอาด iRobot จากสหรัฐอเมริกา รวมถึงเครื่องทำความสะอาดแปรงแต่งหน้า StylPro จากประเทศอังกฤษ 
  4. บริษัท พรีเมี่ยม ออโต้ จำกัด บริษัทให้บริการรถเช่าทั้งภาครัฐและเอกชน 
  5. บริษัท ไรเซน เอนเนอร์จี จำกัด (ร่วมทุน) ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้า BYD 

จะเห็นได้ว่า การตัดสินใจเดินหน้าเข้าสู่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าของตระกูลลีนุตพงษ์ ในครั้งนี้ไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน ทั้งจากเงินทุนจดทะเบียนที่มากกว่า 300 ล้านบาท การจับมือกับ แบรนด์ BYD ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ของโลก ซึ่งหากมองแบบผิวเผินหลายคนเมื่อได้ยินชื่อรถยนต์ BYD ของจีน อาจจะส่ายหัว ไม่เชื่อถือในเรื่องของคุณภาพ แต่รู้หรือไม่ว่า BYD นี่แหล่ะคือ ผู้ผลิตแบตเตอรี่เพียงรายเดียวให้กับ รถยนต์สปอร์ตไฟฟ้าชื่อก้องโลกอย่าง “Tesla”  

นั่นจึงไม่น่าแปลกใจที่ทำไม ในบูธของ BYD จึงมีรถยนต์ Tesla โมเดล X รถ SUV ไฟฟ้าชื่อดังของโลก มาตั้งโชว์ ร่วมกับ Tesla โมเดล S ได้แบบไม่มีเคอะเขินแต่อย่างใด 

BYD ได้อาศัยงานบางกอกอินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 39 เป็นเวทีเปิดตัวแบรนด์ BYD ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ พร้อมๆ กับประกาศให้สังคมรับรู้ว่า บริษัท ไรเซน เอนเนอร์จี เป็นผู้นำเข้าและผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของ BYD ในประเทศไทยด้วย 

นายอภิชาติ ลีนุตพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไรเซน เอนเนอร์จี จำกัด บอกว่าในปีนี้นอกจากการนำรถ BYD e6 บุกตลาดรถแท็กซี่ไฟฟ้าแล้ว ทางบริษัทยังมีผลิตภัณฑ์ BYD มาทำตลาดอีก 4 รุ่น โดยการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยจะเน้นแบบธุรกิจกับธุรกิจหรือบีทูบีโดยเน้นกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งขณะนี้มีหน่วยงานราชการหลายรายให้ความสนใจ 

“ช่วงแรกเราจะเน้นขายรถยนต์ไฟฟ้าสาธารณะก่อน เพราะคาดว่าในอีก 3 ปี ราคาแบตเตอรี่ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของรถยนต์ไฟฟ้าจะถูกลง ทำให้รถยนต์ไฟฟ้ามีราคาใกล้เคียงกับรถสันดาปภายใน ถึงเวลานั้นลูกค้าน่าจะหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น เป็นไปตามเทรนด์ของโลก หากค่าบำรุงรักษาถูกกว่า โครงสร้างพื้นฐานพร้อม ลูกค้าก็น่าจะหันมาซื้อรถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น”

สำหรับรถ BYD ที่จะทำตลาดในปีนี้ประกอบด้วย 

• BYD c6 – เป็นรถโค้ชไฟฟ้าขนาด 24 ที่นั่ง โดย BYD c6 ถือเป็น 1 ในรถบัสไฟฟ้าของ BYD ที่ได้ถูกส่งมอบไปแล้วกว่า 35,000 คันทั่วโลก ซึ่งจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย พบว่าการใช้รถไฟฟ้า BYD สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านการบำรุงรักษาและค่าน้ำมันเชื้อเพลิงได้ประมาณ 200% เมื่อเปรียบเทียบกับรถบัสดีเซล ซึ่งในขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปราคาได้

• BYD T3 – เป็นรถตู้ขนส่งสินค้าขนาดเล็ก ราคาประมาณ 1.6 ล้านบาท ซึ่งทั้ง DHL และ UPS ในประเทศจีน ต่างเปลี่ยนมาใช้รถ BYD T3 ในการขนส่งจดหมายและพัสดุในเมืองตั้งแต่ปี 2559 โดยรถรุ่นนี้มีขนาดของแบตเตอรี่ 50.3kWh ระยะทางวิ่งต่อการชาร์จเต็มอยู่ที่ 300 กิโลเมตร พร้อมส่งมอบในประเทศไทยได้ช่วงปลายปีนี้

• BYD Electric Forklift ที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารและยาที่ต้องการความสะอาดมากเป็นพิเศษ ซึ่งรถยกไฟฟ้าของบีวายดีจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายไปในการดำเนินการได้กว่า 50% เมื่อเทียบกับรถยกดีเซล ได้รับรางวัล IFOY หรือ International Intralogistics and Forklift Truck of the Year ปี 2016 หน่วยงานอิสระภายใต้การดูแลของกระทรวงเศรษฐกิจและพลังงานของประเทศเยอรมนี ซึ่งรถรุ่นนี้ราคาอยู่ที่ประมาณ 9.9 แสนบาท 

• BYD Electric Baggage Towing Tractor – รถหัวลากกระเป๋าในท่าอากาศยาน  สามารถลากสัมภาระขนาดใหญ่ ไร้มลพิษ ปลอดภัยต่อผู้ใช้บริการท่าอากาศยาน โดย BYD Electric Tractor ได้รับความนิยมจากท่าอากาศยานขนาดใหญ่หลายแห่งทั่วโลก ทั้งเยอรมนี อเมริกา บราซิล ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฯลฯ ซึ่งรถหัวลากกระเป๋าของบีวายดีจะประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการได้กว่า 50% เมื่อเทียบกับรถหัวลากกระเป๋าในท่าอากาศยานที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล โดยราคาจำหน่ายอยู่ที่คันละ 1.6 ล้านบาท 

• BYD e6 – BYD เป็นแบรนด์รถไฟฟ้าแบรนด​์แรกที่ทำรถแท็กซี่ไฟฟ้า นับจากปี 2554 จนถึงปัจจุบันมีรถ BYD ที่นำไปทำเป็นฟลีตแท็กซี่ที่ให้บริการในเมืองต่างๆ จำนวนกว่า 87,000 คัน โดยในเซินเจิ้นมีจำนวน 12,581 คัน สิงคโปร์จำนวน 230 คัน และลอนดอน 100 คัน โดยรุ่นที่ได้รับความนิยม คือ BYD e6 ที่มียอดขายทั่วโลกกว่า 46,000 คัน ด้วยแบตเตอรี่ขนาด 80kWh ทำให้ BYD e6 สามารถวิ่งได้ครอบคลุมระยะทางกว่า 350 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ใช้เวลาชาร์จจาก 0-100% ประมาณ 1.5 ชั่วโมง มีค่าบำรุงรักษาที่ต่ำกว่ารถยนต์เครื่องสันดาปเนื่องจากมีความสึกหรอน้อยกว่า และประหยัดค่าไฟมากกว่า โดยมีราคาจำหน่ายที่ 1.89 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถส่งมอบรถได้ในเดือนสิงหาคมนี้ 

สำหรับ แบรนด์ BYD นั้นย่อมาจาก Build Your Dreams ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่มีความชำนาญใน 4 อุตสาหกรรม คือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ พลังงานทดแทน และรถรางเดี่ยว บีวายดี จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในฮ่องกงและเซินเจิ้น โดยมีบริษัทของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักธุรกิจและนักลงทุนชาวอเมริกัน เป็นหนึ่งในผู้ลงทุนในบริษัท ปัจจุบันมีพนักงาน 220,000 คน ในโรงงาน 33 แห่งทั่วโลก ทั้งนี้ ข้อมูล ณ เดือนพฤษภาคม 2017 บีวายดีมีมูลค่าตามราคาตลาดที่ 625,600,000,000 บาท และมียอดขายรวม 510,000,000,000 บาท โดยจำหน่ายไปยังเมืองต่างๆ กว่า 200 เมือง ใน 50 ประเทศทั่วโลก

BYD ก่อตั้งขึ้นในปี 2538 จากธุรกิจผลิตแบตเตอรี่แบบชาร์จ โดยมีลูกค้าหลัก คือ Apple, Samsung, Microsoft, Dell, Toshiba, HP, Huawei, Lenovo, ZTE และอื่นๆ และเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ในปี 2546 ควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน จนกระทั่งปี 2559 จึงได้เข้าสู่อุตสาหกรรมการคมนาคมขนส่งระบบราง 

ปัจจุบัน BYD เป็นเพียงบริษัทเดียวในโลก ที่พัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ มอเตอร์ไฟฟ้า ระบบควบคุมมอเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ หัวจ่ายและสถานีอัดประจุไฟ และผลิตยานพาหนะเป็นของตนเอง BYD ทำตลาดภายใต้ยุทธศาสตร์ 7+4 คือ ยานพาหนะที่วิ่งบนท้องถนน 7 ประเภท คือ รถยนต์นั่งส่วนบุคคล แท็กซี่ รถบัส รถโค้ช รถบรรทุกเพื่อการขนส่ง รถทำความสะอาดถนน และรถบรรทุกเพื่องานก่อสร้าง ขณะที่ยานพาหนะที่ใช้เฉพาะสถานที่จะถูกออกแบบให้ใช้กับงานใน ท่าเรือ ท่าอากาศยาน คลังสินค้า และเหมืองแร่ 

ธุรกิจพลังงานทดแทน บีวายดี มีผลิตภัณฑ์หลากหลาย ประกอบด้วยสถานีอัดประจุไฟพลังงานแสงอาทิตย์  สถานีกักเก็บพลังงาน ฟอร์คลิฟท์ไฟฟ้า และ LED การจัดทำ solution พลังงานทดแทนทั้งระบบ เพื่อให้เกิดการผลิต กักเก็บ และใช้กระแสไฟอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งได้รับรางวัลจากโครงการ Powering the Future We Want ของสหประชาชาติ

บีวายดี ก้าวเข้าสู่ธุรกิจรถรางเดี่ยว หรือโมโนเรล ซึ่งใช้เวลาพัฒนากว่า 5 ปี และเงินลงทุนกว่า 25,000,000,0000 บาท เพื่อแก้ปัญหาการจราจรที่ติดขัดในเมืองใหญ่ โดยโมโนเรลของบีวายดี มีจุดเด่นที่มีความปลอดภัยสูง ใช้งานได้จริง ค่าใช้จ่ายต่ำ สามารถก่อสร้างได้รวดเร็ว แลมีะรูปลักษณ์ที่สวยงาม โมโนเรลของ BYD เป็นที่ยอมรับมากขึ้นในตลาด

บทความที่น่าสนใจ

สรุปยอดขายรถยนต์เดือน “เมษายน” ยังคงเติบโตต่อเนื่อง ตลาดรถยนต์นั่งคึกคักโต 20.6%

Nopkung

วิเคราะห์ ทำไม Ford EV ถึงขาดทุน 2.4 หมื่นล้านบาท ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2023

Nopkung

Mazda สุดปลื้มยอดจองครึ่งทางในงาน Motor Show ทะลุ 1,000 คัน!!

idiot

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy