สถานการณ์ราคาน้ำมันพุ่งสูงในประเทศไทยนั้นยังคงทวีความรุนแรงต่อเนื่องจากขึ้นเรื่อยๆ โดยในขณะนี้ (วันที่ 14 มิถุนายน 2565) ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล B10 ในประเทศไทยนั้นสูงถึง 34.94 บาทต่อลิตร และราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน 95 นั้นทะลุ 50 บาทไปแล้วเป็นที่เรียบร้อย
นอกจากราคาน้ำมันดิบที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง ยังมีค่าภาษีต่างๆที่ทางภาครัฐเก็บแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวกำหนดราคาน้ำมันนั่นก็คือ “ค่าการกลั่น” ซึ่งในวันนี้เราจะไปเจาะลึกกันครับว่า ค่าการกลั่นนี้คืออะไร และทำไมมันถึงมีราคาแพงขึ้นจากปี 2563 ถึงหลายเท่าตัว !!
อ่านบทความ เจาะโครงสร้างราคาน้ำมันไทย ทำไมถึงแพงกว่ามาเลเซียถึง 2 เท่า คลิกที่นี่
ค่าการกลั่น คืออะไร ?
“ค่าการกลั่น” คือค่าการดำเนินงานของโรงกลั่นน้ำมัน ในการนำน้ำมันดิบมาผ่านกรรมวิธีเพื่อให้ได้น้ำมันบริสุทธิ์ที่สามารถนำมาใช้งานได้ เช่น น้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน น้ำมันเตา น้ำมันเครื่องบิน/น้ำมันก๊าซ รวมถึงก๊าสหุงต้ม (LPG) ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยมีโรงกลั่นอยู่ทั้งหมด 6 บริษัทได้แก่ Thaioil , Esso , บางจาก , ปตท. , IRPC และ SPRC
พรรคกล้าเผย “ค่าการกลั่น” ในปี 2565 มีราคาสูงกว่าปี 2563 ถึง 10 เท่า !!
จากข้อมูลที่ทางพรรคกล้าได้ออมาเปิดเผยว่า ราคาค่าโรงกลั่นของไทยนั้นสูงเกินจริง ซึ่งหากเปรียบเทียบกับวันที่ 10 มิถุนายน 2563 ประเทศไทยมีค่าการกลั่นอยู่ที่ 0.88 บาทต่อน้ำมัน 1 ลิตร ซึ่งหากเปรียบเทียบกับวันที่ 10 มิถุนายน 2565 จะพบว่า ราคาค่าโรงกลั่นกลับพุ่งสูงถึง 8.56 บาทต่อน้ำมัน 1 ลิตร ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่าจากเมื่อ 3 ปีก่อน ทั้งๆที่ต้นทุนการกลั่นนั้นแทบจะไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด และแน่นอนว่าประชาชนต้องเป็นผู้แบกรับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไปเต็มๆ
กระทรวงพลังงานแถลง “ค่าการกลั่น” ที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ราวๆลิตรละ 5.2 บาท !!
หลังจากที่มีกระแสไม่พอใจของประชาชนเกี่ยวกับ ค่าการกลั่น ที่สูงเกินความเป็นจริงนั้น ทางกระทรวงพลังงานได้ออกมาแก้ข่าวโดยได้ระบุว่า ค่าการกลั่นที่แท้จริงในเดือนมิถุนายน 2565 นั้นอยู่ที่ราวๆ 5.2 บาทต่อลิตร ซึ่งหากเปรียบเทียบกับช่วงต้นปี (ม.ค. – พ.ย.) ซึ่งมีราคาอยู่ที่ราวๆลิตรละ 3.27 บาทต่อลิตร ก็ถือว่ามีราคาที่สูงเกินจริงอยู่ดี
ภาครัฐฯ สามารถควบคุม “ค่าโรงกลั่น” ได้หรือไม่ ?
เป็นอีกหนึ่งคำถามที่หลายคนสงสัยว่า ทำไม “ค่าโรงกลั่น” ถึงเพิ่มขึ้นได้เป็น 10 เท่า ทั้งๆที่ทางภาครัฐควรที่จะเข้าไปควบคุมราคาตรงนี้ ซึ่งในทางข้อกฎหมายแล้ว นี่เป็นช่องโหว่ซึ่งภาครัฐไม่สามารถเข้าไปควมคุมได้ ซึ่งในช่วงเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย โรงกลั่นก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน เนื่องจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำในช่วงนั้น ส่งผลให้ค่าการกลั่นตกต่ำลงเป็นอย่างมาก
รัฐบาล ช่วยอุดหนุนราคาน้ำมัน ด้วยเงินจาก “กองทุนน้ำมัน”
อย่างที่ทราบกันว่าในขณะนี้ กองทุนน้ำมันไทยนั้นขาดทุนสะสมไปแล้วกว่า 100,000 ล้านบาท ซึ่งทางภาครัฐได้นำเงินมาอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล เพราะจริงๆแล้วในขณะนี้ราคาน้ำมันดีเซลที่แท้จริงอาจทะลุ 40 บาทไปแล้ว แต่สาเหตุที่ยังคงราคาอยู่ที่ 35 บาทได้นั้นก็เป็นเพราะว่าได้รับเงินอุดหนุนราคาน้ำมันจากกองทุนน้ำมันนั่นเอง
ภาษีลาภลอย (Windfall Tax) อาจเป็นทางออกหนึ่งที่สามารถช่วยลดภาระของประชาชนได้
ภาษีลาภลอย เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สามารถนำมาช่วยแบ่งเบาภาระประชาชน เพราะถือว่ากำไรที่เกิดขึ้นเป็นกำไรที่ลาภลอยของผู้ประกอบการโรงกลั่น (ราคาน้ำมันสูงขึ้นทั่วโลก จากวิกฤตสงครามยูเครน-รัสเซีย และปัญหาอื่นๆ) ยังไม่นับรวมส่วนของสต็อกน้ำมันที่ซื้อมาในราคาถูก แต่ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ประกอบการได้กำไรจากส่วนต่างอีกไม่น้อย
กระทรวงพลังงานเตรียมพูดคุยกับโรงกลั่น เพื่อ “ขอความร่วมมือ” ควบคุมราคา “ค่าโรงกลั่น” ให้เหมาะสม ?
ในขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายหรือข้อกำหนดที่ควบคุมราคา “ค่าโรงกลั่น” ให้เหมาะสม ทางภาครัฐจึงทำได้แค่เพียงการ “ขอความร่วมมือ” จากทางโรงกลั่น ให้ช่วยลดราคาค่าโรงกลั่นให้ต่ำลง เพื่อเป็นการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้ไม่ต้องรับภาระราคาน้ำมันมากไปกว่านี้
อย่างไรก็ตามเราต้องติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดว่าทางภาครัฐจะสามารถเจรจากับโรงกลั่น เพื่อขอความร่วมมือให้พวกเขาลดค่าโรงกลั่น รวมถึงในอนาคตทางภาครัฐจะสามารถออกกฎหมายหรือกฎข้อบังคับเพื่อควบคุมค่าโรงลั่น เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนที่กำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหากมีข่าวคราวอัพเดทเกี่ยวกับราคาน้ำมันไทย พวกเราจะรีบนำข้อมูลที่น่าสนใจมากเสิร์ฟให้กับทุกท่านอย่างแน่นอน
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : thaipost.net / thansettakij.com / energy.go.th /tananop32903.wordpress.com / freepik.com