ในเมืองหลวงหลายๆ ที่ในบ้านเราคงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้กับการติดไฟแดงนานแบบแสนสาหัส ยิ่งในกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมรของเราช่วงชั่วโมงเร่งด่วนแล้วล่ะก็..แทบจะกินนอนกันบนท้องถนนเลยก็ว่าได้ เข้าเรื่องดีกว่ากับการเป็นที่ถกเถียงกันมายาวนานของรถที่เป็นเกียร์อัตโนมัติ (ออโต้) สำหรับการที่จอดรถรอไฟแดงหรือช่วงรถติดแบบแค่ 500 เมตร แต่ใช้เวลาเป็นชั่วโมง
แรงดันในระบบเกียร์อัตโนมัตินั้น เมื่อเลื่อนคันเกียร์จากเกียร์ว่างในตำแหน่ง N ไปที่ตำแหน่งขับเคลื่อนเดินหน้าหรือ D จะเกิดแรงดันขึ้นเพื่อดันของเหลวหรือน้ำมันเกียร์ให้มีการไหลเวียนเพื่อหล่อลื่นการทำงาน จริงหรือไม่ที่การขับใช้งานแบบเลื่อนคันเกียร์บ่อยๆ จะทำให้เกียร์สึกหรอโดยใช่เหตุ!!
โดยช่างหรือผู้เชี่ยวชาญ และเกจิอาจารย์ด้านรถยนต์ส่วนใหญ่จึงแนะนำวิธีการใช้งานเกียร์ออโต โดยมักจะบอกกันว่าตั้งแต่สตาร์ตเครื่องยนต์ใส่เกียร์ D ขับออกจากบ้าน เมื่อเจอสภาพจราจรที่ติดขัดไม่ว่าจะสาหัสสากรรจ์ขนาดไหน ก็ไม่ควรเปลี่ยนเกียร์เลื่อนไปเลื่อนมาระหว่าง D และ N ให้เหยียบเบรกเอาไว้พร้อมกับคาเกียร์ในตำแหน่ง D ตลอดเวลา
ถึงแม้ว่ารถจะติดโหดจนขาแทบพลิกเพราะต้องเหยียบแป้นเบรกยาวนานจนตะคริวกินขาเลือดไม่เดิน แทนที่เกียร์จะพังกลับเป็นขาของคนขับที่จะพังแทน เกจิในวงการบางท่านหรือนักเลงรถเจ้าของอู่ที่เชี่ยวชาญในด้านระบบส่งกำลังต่างออกมาบอกกันว่า “ทอร์กคอนเวอร์เตอร์” ในเกียร์อัตโนมัติจะหยุดส่งถ่ายแรงดันเมื่อผู้ขับขี่เข้าเกียร์ว่างหรือเกียร์ N และหากเลื่อนคันเกียร์ไปที่ตำแหน่งขับเคลื่อนหรือ D เพื่อขับเคลื่อน แรงดันจากระบบเกียร์จะทำงานต่อทันทีที่เข้าเกียร์ D ทำให้ภายในระบบเกียร์และวาล์วภายในมีแรงดันไม่ต่ำกว่า 2-5 บาร์ สำหรับให้กำลังในการออกตัว หากทำแบบนั้นบ่อยๆ จะทำให้เกียร์สึกหรอ
ซึ่งพิสูจน์กันแล้วว่าไม่จริงเสมอไป การเลื่อนคันเกียร์อัตโนมัติจาก D ไปที่ N แล้วดึงเบรกมือเพื่อป้องกันรถไหล เกียร์ออโต้ที่มีการดูแลรักษาเปลี่ยนถ่ายของเหลวหรือน้ำมันเกียร์ตามระยะทาง ไม่ค่อยขับแบบลากเกียร์หรือยัดเกียร์เองในโหมดแมนนวล ไม่ว่าจะติดนานแค่ 1-2 นาที หรือนิ่งสนิทลากกันยาวจนแทบจะหลับคารถ ผมมักเลื่อนคันเกียร์ไปยังเกียร์ว่างหรือ N แล้วดึงเบรกมือเพื่อพักเท้าป้องกันรถไหล
ในส่วนของการสึกหรอนั้น เกียร์ออโต้จะเกิดการสึกหรอเสียหายนอกจากการเลื่อนคันเกียร์ไป-มา ซึ่งเป็นวิธีใช้งานในชีวิตประจำวันอยู่แล้วที่คุณต้องเลื่อนจาก P ไป R ไป N ไปที่ D หรือแม้แต่ D1-D2 หากพบเจอกับทางขึ้นเขาลงเนิน
สำหรับการสึกหรอเสียหายยังเกิดขึ้นได้จากการใช้งานที่ผิดวิธี เช่น ไม่เคยเปลี่ยนของเหลวหล่อลื่นมานานจนจำไม่ได้ว่าครั้งล่าสุดเปลี่ยนไปเมื่อไหร่ ชอบขับแบบลากรอบลากเกียร์ เปลี่ยนเกียร์ขึ้นลงด้วยตัวเองบ่อยครั้งแทนที่จะให้ ECU ของเกียร์ทำงานไปตามเรื่องตามราวของมัน รถยังไม่ทันหยุดก็ทำตัวเป็นคนหัวร้อนยัดเกียร์ถอยซะแล้ว แบบนั้นแหละที่เป็นตัวการในการทำให้เกียร์ออโต้ของคุณพัง ไม่ใช่แค่การเลื่อนคันเกียร์จาก D ไป N เพื่อพักเท้าพักขาเมื่อเจอเข้ากับรถติดหนักๆ แถมยังเป็นการพักการทำงานของชุดคลัตช์ไปในตัวขณะจอดรอสัญญาณไฟ สรุปแล้วเลือกเอาเองแล้วกันครับว่าคุณชอบแบบไหน