บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด รายงานสถิติการขายรถยนต์ประจำเดือนสิงหาคม 2564 ชะลอตัวทุกเซ็กเมนท์ในช่วง Low Season โดยมียอดขายรวมทั้งสิ้น 42,176 คัน ลดลง 38.8%ประกอบด้วย รถยนต์นั่ง 13,845 คัน ลดลง 35% รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 28,331 คัน ลดลง 40.5% ขณะที่ รถกระบะขนาด 1 ตัน ในเซกเมนท์นี้ มีจำนวน 21,875 คัน ลดลง 40.9%
ประเด็นสำคัญ
ตลาดรถยนต์เดือนสิงหาคม 2564 มีปริมาณการขาย 42,176 คัน ลดลง 38.8% โดยตลาดรถยนต์นั่งมีอัตราการเติบโตลดลง 35% ตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์มีอัตราการเติบโตลดลง 40.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา สืบเนื่องจากความวิตกกังวลต่อภาวะการระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งเป็นการระบาดของสายพันธุ์ Delta ที่แพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดิม โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ศูนย์บริหารสถานการณ์การโควิด-19 (ศบค.)ขยายพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดมากขึ้น เพื่อควบคุมการระบาดของไวรัส COVID-19 ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน และภาคธุรกิจต่างๆ ส่งผลให้ผูบริโภคส่วนใหญ่มีความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ภายในประเทศและรัดกุมเรื่องการใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น ประกอบกับช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นช่วง Low season ที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการขายรถยนต์อีกด้วย
ตลาดรถยนต์ในเดือนกันยายนมีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 รวมทั้งการออกมาตรการควบคุมการระบาดของไวรัส COVID-19 เป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ต้องชะลอ หรือเลื่อนกำหนดการออกไป รวมไปถึงสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดทำให้ประชาชนเดือดร้อน ด้วยหลายเหตุปัจจัยต่างๆ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อเศรษฐกิจโดยรวม และกระทบความสามารถในการซื้อรถยนต์ของลูกค้าด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดียังมีความหวังว่าสถานการณ์ต่างๆ จะฟื้นตัวดีขึ้นจากความพยายามของภาครัฐในการแก้ไขปัญหา และการประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 รวมทั้งมาตรการทางเศรษฐกิจ ที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างกำลังซื้อของผู้บริโภคให้ฟื้นคืนกลับมาโดยเร็ว
ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ เดือนสิงหาคม 2564
1. ตลาดรถยนต์รวม ปริมาณการขาย 42,176 คัน ลดลง 38.8%
อันดับที่ 1 โตโยต้า | 12,364 คัน | ลดลง 42.8% | ส่วนแบ่งตลาด 29.3% |
อันดับที่ 2 อีซูซุ | 11,035 คัน | ลดลง 33.4% | ส่วนแบ่งตลาด 26.2% |
อันดับที่ 3 ฮอนด้า | 5,345 คัน | ลดลง 37.9% | ส่วนแบ่งตลาด 12.7% |
2. ตลาดรถยนต์นั่ง ปริมาณการขาย 13,845 คัน ลดลง 35%
อันดับที่ 1 ฮอนด้า | 4,906 คัน | ลดลง 30.9% | ส่วนแบ่งตลาด 35.4% |
อันดับที่ 2 โตโยต้า | 3,694 คัน | ลดลง 30.0% | ส่วนแบ่งตลาด 26.7% |
อันดับที่ 3 มาสด้า | 1,061 คัน | ลดลง 49.6% | ส่วนแบ่งตลาด 7.7% |
3. ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ ปริมาณการขาย 28,331 คัน ลดลง 40.5%
อันดับที่ 1 อีซูซุ | 11,035 คัน | ลดลง 33.4% | ส่วนแบ่งตลาด 39.0% |
อันดับที่ 2 โตโยต้า | 8,670 คัน | ลดลง 46.9% | ส่วนแบ่งตลาด 30.6% |
อันดับที่ 3 ฟอร์ด | 2,012 คัน | ลดลง 23.3% | ส่วนแบ่งตลาด 7.1% |
4. ตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน (Pure Pick up และ รถกระบะดัดแปลง PPV*) ปริมาณการขาย 21,875 คัน ลดลง 40.9%
อันดับที่ 1 อีซูซุ | 9,638 คัน | ลดลง 36.9% | ส่วนแบ่งตลาด 44.1% |
อันดับที่ 2 โตโยต้า | 7,754 คัน | ลดลง 42.8% | ส่วนแบ่งตลาด 35.4% |
อันดับที่ 3 ฟอร์ด | 2,012 คัน | ลดลง 23.3% | ส่วนแบ่งตลาด 9.2% |
*ปริมาณการขายรถกระบะดัดแปลง (ในตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน) 2,487 คัน
โตโยต้า 1,114 คัน – อีซูซุ 687 คัน – มิตซูบิชิ 278 คัน – ฟอร์ด 250 คัน – นิสสัน 158 คัน
5. ตลาดรถกระบะ Pure Pick up ปริมาณการขาย 19,388 คัน ลดลง 41.7%
อันดับที่ 1 อีซูซุ | 8,951 คัน | ลดลง 39.8% | ส่วนแบ่งตลาด 46.2% |
อันดับที่ 2 โตโยต้า | 6,640 คัน | ลดลง 43.8% | ส่วนแบ่งตลาด 34.2% |
อันดับที่ 3 ฟอร์ด | 1,762 คัน | ลดลง 15.7% | ส่วนแบ่งตลาด 9.1% |