fbpx
อีซูซุ ผู้นำด้านรถเพื่อการพาณิชย์ระดับโลกมากว่า 8 ทศวรรษ แถลง “นโยบายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในระดับโลกและระดับประเทศ”

อีซูซุพร้อมก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน เดินหน้าด้วยแนวคิด “โซลูชั่นส์อันหลากหลาย”

อีซูซุ ผู้นำด้านรถเพื่อการพาณิชย์ระดับโลกมากว่า 8 ทศวรรษ แถลง “นโยบายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในระดับโลกและระดับประเทศ” ผ่าน “โซลูชั่นส์อันหลากหลายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” (Multi-pathways to Carbon Neutrality) ทั้งด้านผลิตภัณฑ์ การพัฒนาพลังงานสะอาดรูปแบบใหม่ รวมถึงระบบการจัดการ และกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ของอีซูซุ โดยคำนึงถึงความต้องการที่แตกต่างกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ใช้รถ ควบคู่ไปกับการส่งมอบความสุขที่ยั่งยืนในการเข้าสู่สังคมความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการรับมือกับโลกยานยนต์อนาคต

มร. ทาคาชิ โอไดระ กรรมการผู้จัดการ และรองประธานบริหารรับผิดชอบด้านวิศวกรรม และกลยุทธ์ความเป็นกลางทางคาร์บอน บริษัท อีซูซุมอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า อีซูซุได้ประกาศเป้าหมายว่าจะ “สร้างเสริมการขับเคลื่อนอย่างสร้างสรรค์ของโลก” (Creating the Movement of the Earth) เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว โดยตระหนักว่าอุตสาหกรรมยานยนต์โลกอยู่ในยุคการเปลี่ยนผ่านในรอบศตวรรษ รถเพื่อการพาณิชย์ก็ต้องเร่งพัฒนาด้วยเช่นกัน เรากำลังเผชิญกับความท้าทายทางสังคมที่ต้องเอาชนะ และเพิ่มการขับเคลื่อนอย่างสร้างสรรค์ สำหรับผู้คนและสินค้าทั้งหมดในโลก อาทิ ความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องบรรลุเป้าหมายสังคมความเป็นกลางทางคาร์บอน ความสูญเสียจากอุบัติเหตุจราจรเป็นศูนย์ การจัดการปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต

อีซูซุมุ่งมั่นที่จะส่งมอบความมั่นใจและความอุ่นใจให้กับลูกค้าของเรามาโดยตลอด ด้วยการนำเสนอรถยนต์ไฟฟ้าประเภทต่างๆ และรถเครื่องยนต์ดีเซลหลากชนิด ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีความปลอดภัยขั้นสูง การให้บริการการบริหารจัดการระบบปฏิบัติการ และบริการหลังการขายต่างๆ ที่ถือเป็นคุณค่าผลิตภัณฑ์ ซึ่งเราได้นิยาม “คุณค่าผลิตภัณฑ์” ไว้ 3 ประการดังนี้:

  1. ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Environmental Friendliness) ผลิตภัณฑ์อีซูซุต้องสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราได้นำเสนอผลิตภัณฑ์เครื่องยนต์สันดาปภายในที่มีประสิทธิภาพสูงให้แก่ลูกค้าทั่วโลกของเราเสมอมา ต่อจากนี้ไปเราจะต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ่านการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมด้านพลังงานไฟฟ้าเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
  2. ความเป็นมิตรกับผู้ใช้รถ (User Friendliness) คุณค่าของ “การตระหนักถึงสังคมที่สามารถขนส่งผู้คนและสินค้าได้อย่างปลอดภัย มั่นคง และมีประสิทธิภาพ” เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับรถเพื่อการพาณิชย์ เราได้นำเสนอบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย มั่นคง และคุ้มค่าสมเหตุสมผลให้กับลูกค้ามาโดยตลอด และเราจะยังคงนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับผู้ใช้รถยิ่งขึ้นต่อไป ด้วยความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ และกิจกรรมที่สร้างสรรค์ร่วมกับลูกค้า
  3. ความน่าเชื่อถือและความต่อเนื่องในการดำเนินงาน (Reliable and Continuous Operation) เราได้นำเสนอรถเพื่อการพาณิชย์ที่แข็งแกร่งทนทานและเชื่อถือได้ รวมทั้งเครือข่ายบริการหลังการขายเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของลูกค้าตลอดมา ต่อจากนี้ไปเราจะยังสนับสนุนการเติบโตอย่างมั่นคงทางเศรษฐกิจของทุกภาคส่วน ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่สามารถจะทำให้การดำเนินงานของลูกค้าเป็นไปอย่างต่อเนื่องเพื่อสังคมโดยรวม

นอกจากนี้อีซูซุกำลังเดินหน้าด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นส์แบบครบวงจร เพื่อนำเสนอ “โซลูชั่นส์อันหลากหลายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” (Multi-pathways to Carbon Neutrality)  เพื่อให้เหมาะกับความต้องการเฉพาะด้านที่แตกต่างกันของลูกค้าทั่วโลก ขณะนี้ “แผนงานด้านสิ่งแวดล้อมปี 2573” ของเราซึ่งมีเป้าหมายที่จะนำเสนอรถยนต์ไฟฟ้าประเภทต่างๆ ทั้งรถบรรทุกขนาดกลางและขนาดใหญ่ รถปิกอัพ และรถบัสโดยสาร ภายในปี 2573 กำลังดำเนินไปอย่างราบรื่น

สำหรับประเทศไทย เราวางแผนที่จะผลิตรถปิกอัพไฟฟ้าเพื่อส่งออกซึ่งจะเริ่มจากประเทศในโซนยุโรปในปี 2568 และจะทยอยเปิดตัวในประเทศอื่นๆ ตามกฎระเบียบและความคืบหน้าด้านความเป็นกลางทางคาร์บอนของแต่ละประเทศ 

อีซูซุจะใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 1 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 240,000 ล้านบาท ในด้านการวิจัยและพัฒนาภายในปีงบประมาณ 2573 เพื่อดำเนินการเรื่องการปฏิรูปทางดิจิทัลเกี่ยวกับความเป็นการทางคาร์บอนและโลจิสติกส์ (CN and logistics DX) อีกทั้งการสร้างศูนย์พัฒนาและทดสอบยานยนต์ไฟฟ้า ภายใต้ชื่อ “The EARTH Lab” ภายในปี 2569

เรามั่นใจว่าการเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจปัจจุบัน และการลงทุนเชิงรุกในครั้งนี้จะรักษาความเป็นผู้นำตลาดไว้ได้อย่างมั่นคงในระยะสั้นถึงระยะกลาง และจะเป็นการเสริมสร้างรากฐานสำหรับการเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาวของเรา อีซูซุจะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของโลกโดย “สร้างเสริมการขับเคลื่อนอย่างสร้างสรรค์ของโลก” ด้วยจุดแข็งของเราและก้าวไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน

สำหรับนโยบายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของอีซูซุในประเทศไทย มร. ทาคาชิ ฮาตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด ชี้แจงว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของโลก มีการผลิตรถยนต์ต่อปีมากถึง 1.8 – 1.9 ล้านคัน สูงที่สุดในอาเซียน และเป็นอันดับ 10 ของโลก  ซึ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ และการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเป็นรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engines : ICE) เกือบทั้งหมด  ในปี 2566 มีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 9.73 แสนล้านบาท  ซึ่งรถปิกอัพและอนุพันธ์ในฐานะ “โปรดักส์แชมเปี้ยน” เป็นรถที่ส่งออกมากที่สุดถึง 786,383 คัน คิดเป็น 70% จากรถทุกประเภท

นับจากนี้ไป อีซูซุในฐานะผู้นำรถเพื่อการพาณิชย์ของประเทศไทยพร้อมเดินหน้าสนับสนุนนโยบายรัฐบาลไทยในการมุ่งสู่สังคมที่เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality Society) ในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 ตลอดจนสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคอาเซียน ด้วยแนวคิด “โซลูชั่นส์อันหลากหลายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” (Multi-pathways to Carbon Neutrality)

การนำเสนอผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ซับซ้อน และแตกต่างจากรถยนต์นั่ง ซึ่งเราต้องพิจารณาถึงการใช้งานเชิงพาณิชย์และส่วนตัว เราจึงพัฒนารถที่มี “โซลูชั่นส์อันหลากหลายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” (Multi-pathways to Carbon Neutrality) ไม่ใช่เพียงแต่รถไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) หรือรถไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน (FCEV) เท่านั้น แต่หมายรวมถึงพลังงานอื่นๆ เช่น การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral Fuel) กับเครื่องยนต์สันดาปภายใน อาทิ น้ำมันไบโอดีเซลเจนเนอเรชั่นใหม่จากพืชใช้แล้ว (HVO – Hydrotreated Vegetable Oil) และ น้ำมันเชื้อเพลิงสังเคราะห์ (e-Fuel) เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ใช้รถอีซูซุด้วย 

ซึ่งในงานนี้เราได้นำรถมาจัดแสดงถึง 4 รุ่น คือ

  • รถปิกอัพไฟฟ้าต้นแบบ “อีซูซุ ดีแมคซ์” (Isuzu D-Max EV Concept)

ซึ่งเป็นรถปิกอัพ 4 ประตู ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบ Full Time โดยใช้แพลตฟอร์มเดียวกันกับรถปิกอัพเครื่องยนต์ดีเซล ชุดมอเตอร์คู่และเฟืองท้ายภายใต้ “eAxle” ที่พัฒนาขึ้นใหม่ ทำงานร่วมกันทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ผสานกับช่วงล่างด้านหลังใหม่หมดแบบ De-Dion มั่นใจบนทุกสภาพถนน เหมาะสมกับการใช้งานของรถปิกอัพ    สร้างดุลยภาพในการขับขี่ทั้งความนุ่มนวล และความสามารถในการบรรทุกอันยอดเยี่ยม จุดเด่นคือ ใช้มอเตอร์ไฟฟ้ากำลังสูง  2  ตัว แรงบิดรวมกัน 325 นิวตัน-เมตร มอเตอร์ไฟฟ้าคู่กำลังสูง การออกแบบโครงและตัวถังที่แข็งแกร่งช่วยเพิ่มความสามารถในการลากจูงได้ มีแผนจะเริ่มผลิตเพื่อส่งออกอย่างเป็นทางการจากฐานการผลิตประเทศไทยในปี 2568 เนื่องจากวิธีการใช้งานของลูกค้าแตกต่างกัน รถปิกอัพไฟฟ้าต้นแบบ “อีซูซุ ดีแมคซ์” จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับลูกค้าผู้ใช้รถ จะเปิดตัวในประเทศภาคพื้นทวีปยุโรปบางประเทศ เช่น นอร์เวย์ ในปี 2568 จากนั้นมีกำหนดการจะเปิดตัวในสหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย ไทย ตลอดจนประเทศหรือภูมิภาคอื่นๆ เป็นลำดับถัดไป ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดและความพร้อมของสาธารณูปโภคด้านสถานีชาร์จรถไฟฟ้า

  • รถปิกอัพ “อีซูซุ ดีแมคซ์ ไฮ-แลนเดอร์ MHEV” 4 ประตู ซึ่งเป็นระบบการทำงานร่วมกันระหว่างเครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบ กับมอเตอร์ไฟฟ้าขนาดเล็ก โดยการติดตั้งแบตเตอรี่ 48 โวลต์ ทำหน้าที่เสริมกำลังขับเคลื่อนให้กับเครื่องยนต์ 9 Ddi Blue Power เพื่อลดภาระการทำงานของเครื่องยนต์ในช่วงออกตัว รวมถึงช่วยลดการสั่นสะเทือนในจังหวะสตาร์ทเครื่องยนต์และช่วยลด CO2 ซึ่ง “อีซูซุ ดีแมคซ์ ไฮ-แลนเดอร์ MHEV” คันนี้เป็นรถทดลองประกอบเพื่อเป็นหนึ่งในทางเลือกให้กับลูกค้าในการลด CO2  โดยรถประเภทนี้อาจจะเหมาะกับความต้องการของลูกค้าบางกลุ่ม ซึ่งเราอยู่ในระหว่างการสำรวจตลาดก่อนกำหนดแผนการจำหน่ายต่อไป

  • รถบรรทุกไฟฟ้า “อีซูซุ เอลฟ์ อีวี” (Isuzu Elf EV) พัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิด Isuzu Modular Architecture and Component Standard : I-MACS” สำหรับรถบรรทุกขนาดกลางและขนาดใหญ่ในรูปแบบต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมการออกแบบ Center Drive System EV” ซึ่งเป็นการออกแบบรถบรรทุกไฟฟ้าโดยเฉพาะ เนื่องจากต้องคำนึงถึงความสมดุลของการกระจายน้ำหนักรถ ระยะช่วงล้อหลัง และรัศมีวงเลี้ยวที่เหมาะสม เหมาะกับการใช้งานบรรทุกเบา วิ่งระยะสั้น อาศัยความคล่องตัว โดยใช้แพลตฟอร์มเดียวกันกับรถบรรทุกเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งได้เปิดตัวครั้งแรกในโลกที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อมีนาคม 2566 ในขณะเดียวกันเรากำลังพัฒนาเทคโนโลยีการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swapping System) ในระยะเวลาอันสั้นเพื่อลดระยะเวลาในการจอดเพื่อชาร์จแบตเตอรี่ อีกทั้งยังสามารถเลือกแบตเตอรี่ได้ตั้งแต่จำนวน 2 – 5 ก้อน เพื่อให้เหมาะกับระยะทางการขนส่ง
  • รถบรรทุกไฟฟ้าขนาดกลางเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน (Isuzu Elf FCEV) การพัฒนาร่วมกันระหว่างพันธมิตรทางธุรกิจ ภายใต้โครงการ Commercial Japan Partnership Technologies Corporation (CJPT) เหมาะกับการใช้งานบรรทุกหนัก สามารถเติมเชื้อเพลิงได้รวดเร็ว และไม่ก่อให้เกิดมลพิษ เป็นการเพิ่มตัวเลือกรถบรรทุกในตลาด ตอบรับกับความต้องการก้าวสู่ยุคความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยในญี่ปุ่นได้มีการวิ่งทดสอบตามการใช้งานจริงตามเมือง และประเภทการใช้งานต่างๆ จำนวน 90 คัน เมื่อเดือนมกราคม 2566 ที่โตเกียว ฟุกุชิมะ และฟุกุโอกะ ส่วนประเทศไทยได้มีการวิ่งทดสอบแล้วจำนวน 4 คัน เมื่อเดือนกันยายน ถึงพฤศจิกายน 2566

กิจกรรมเพื่อสนับสนุนสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

  • การลงนามในบันทึกข้อตกลงการเข้าร่วมมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ากับกรมสรรพสามิตเพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิตรถไฟฟ้าอีซูซุเพื่อจำหน่ายในประเทศ และเพื่อส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกเหมือนเช่นที่ผ่านมา
  • การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาโครงการทดสอบรถยนต์กับพลังงานสะอาดเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ระหว่าง ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ มิตซูบิชิคอร์ปอเรชั่น (ประเทศญี่ปุ่น) กับ ปตท. เพื่อทดสอบรถบรรทุกไฟฟ้าอีซูซุ วิ่งใช้งานจริง โดยใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 100% ผ่านระบบบริหารจัดการพลังงาน ระบบชาร์จ และ EV อีโคซิสเต็มของ ปตท. และโครงการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์สำหรับรถยนต์ดีเซล โดยการทดสอบใช้ HVO น้ำมันไบโอดีเซลเจนเนอเรชั่นใหม่จากพืชใช้แล้ว รวมทั้งร่วมกับมิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศญี่ปุ่น) ศึกษาวิจัยน้ำมัน e-fuel ซึ่งเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสังเคราะห์ช่วยลดการปล่อยก๊าซ CO2 และสามารถใช้งานในเครื่องยนต์สันดาปภายในที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยจะเริ่มวิ่งทดสอบการใช้น้ำมัน HVO ภายใต้สภาพการใช้งานจริงร่วมกับบริษัทชั้นนำของประเทศไทยตั้งแต่กลางปีนี้เป็นต้นไป ซึ่งอีซูซุเชื่อว่าโครงการนี้จะทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้โดยสร้างผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงาน รวมถึงเครือข่ายการคมนาคมไทยน้อยที่สุด
  • นอกจากการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาดเพื่อมอบทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว อีซูซุยังให้ความสำคัญกับการดำเนินกิจกรรมการตลาดและการส่งเสริมการขาย ภายใต้แนวคิด “Isuzu Life Cycle Solutions” ที่ให้การสนับสนุนผู้ใช้รถอีซูซุ ด้วยการนำเสนอโซลูชั่นส์ทั้งในด้านเทคโนโลยีและการจัดอบรมเพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้งานอย่างคุ้มค่า ประหยัดพลังงาน และลดต้นทุนโดยรวม พร้อมส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดตลอดอายุการใช้งาน
  • การสร้างจิตสำนึกด้านการประหยัดพลังงานในกลุ่มอีซูซุ ด้วยการปรับปรุงสำนักงานเป็นอาคารประหยัดพลังงาน ติดตั้งแผงพลังงานโซลาร์เซลล์ที่โรงงานผลิต และขยายการติดตั้งในโชว์รูมทั่วประเทศ ช่วยลดการปล่อยก๊าซ CO2 ไปแล้วกว่า 1,000 ตัน และลดอัตราการใช้ไฟฟ้าได้กว่า 50% และอีกหลากหลายโครงการปลูกจิตสำนึกพนักงานในองค์กร เช่น โครงการแยกขยะ และโครงการปลูกป่า เป็นต้น
  • การยกระดับโครงการ “อีซูซุให้น้ำ…เพื่อชีวิต” ที่กลุ่มอีซูซุร่วมมือกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 11 ปี โดยการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาปรับใช้ในโครงการ

ตลอดระยะเวลา 67 ปีของการดำเนินธุรกิจอีซูซุในประเทศไทย อีซูซุได้อยู่เคียงคู่กับสังคมไทยในฐานะนิติบุคคลที่ดีเสมอมาภายใต้ปรัชญาการดำเนินธุรกิจ “วิถีอีซูซุ” (Isuzu Spirit) – –   ผู้ใช้สุขใจ เพิ่มพูนรายได้ ช่วยให้สังคมพัฒนา” ผ่านนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ และกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ   และเราขอให้คำมั่นว่า เราจะยังคงยืนหยัดร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยในการผลักดันให้ประเทศไทยเดินหน้ามุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนตามที่ได้ตั้งไว้

บทความที่น่าสนใจ

Mitsubishi Pajero อาจกลับมาอีกครั้งในรูปแบบของรถเอสยูวี PHEV สุดหรู

idiot

MINI ซุ่มพัฒนา John Cooper Works GP เวอร์ชั่นไฟฟ้าล้วน คาดเปิดตัวต้นปี 2022

idiot

Nissan Leaf ถูกแปลงโฉมให้เป็น Hot Hatch กำลังไฟฟ้า กำลังกว่า 304 แรงม้า

idiot

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy