fbpx

ล้อแม็ก! อยากเท่ห์ อยากหล่อ เลือกอย่างไรให้ปลอดภัย

อันดับแรกของการตกแต่งรถของใครหลายๆ คน นั่นก็คือการเปลี่ยนล้อแม็ก รองลงมาคือเครื่องเสียง ฯลฯ ซึ่งรถหลายรุ่นให้มาแค่ล้อกระทะเหล็กพร้อมฝาครอบพลาสติกซึ่งไม่ค่อยมีความสวยงาม หลายๆ คนจึงมักจะเปลี่ยนเพื่อให้รถของตัวเองดูดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็ไม่แปลกอะไรกับการเปลี่ยนล้อแม็ก หลายคนคงคิดว่าไม่เห็นจะต้องเอามาเป็นประเด็นอะไรเลย แค่มีสตางค์ซื้อก็จบ แต่งานนี้คงจะต้องบอกเลยว่าเป็นเรื่องสำคัญมากเพราะเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยล้วนๆ

 หากจะถามว่ากับการแค่จะเปลี่ยนล้อแม็กเรื่องราวมันเยอะขนาดนั้นเลยหรือ ตอบได้เลยว่าเยอะมากและมีผลมากเสียจนคุณอาจจะคิดไม่ถึงเลยด้วยซ้ำ โดยหลายๆ คนคงเคยได้ยินหรือได้เห็นมาแล้วจากข่าวคราวตามโทรทัศน์ หรือสื่อในช่องทางต่าง ๆ ซึ่งนี่ยังไม่นับรวมปัญหาอื่นๆ อีกมากมายกับล้อที่ไม่มีคุณภาพ
 
หลายคนด้วยความที่อยากหล่อก็เลยไปหาล้อแม็กสวยๆ มาเปลี่ยน เลือกตามความชอบโดยไม่สนใจอย่างอื่นเลย เมื่อซื้อมาแล้วต้องมีการดัดแปลงเพื่อให้ใส่กับรถตัวเอง แม้ว่าจะใส่กับรถตัวเองไม่ได้ก็ดันทุรังหาทางดัดแปลงให้เข้ากับรถตัวเองให้ได้ เพราะชอบล้อลายนั้นเป็นอย่างมากโดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะตามมา บางคนก็เชื่อร้าน ร้านบอกทำได้ก็ทำ แต่อย่าลืมว่าทุกการดัดแปลงร้านยิ่งได้เงินเพิ่มขึ้น ไม่มีร้านไหนดัดแปลงให้ฟรีๆ และถ้างานไม่ดีก็ไม่ค่อยมีใครรับผิดชอบเพราะถือว่าเจ้าของรถเต็มใจดัดแปลงเอง..ช่วยไม่ได้ ลองมาเรียนรู้ว่าจะเปลี่ยนล้อทั้งทีควรจะต้องรู้อะไรบ้าง
 
 

PCD และสเปเซอร์

 
ลำพังเรื่อง PCD มันไม่มีปัญหาอะไรกับความปลอดภัยนัก เพราะระยะ PCD คนละขนาดกันมันก็ยัดไม่เข้า แต่ระยะออฟเซตนั้นถ้ามันผิดเพี้ยนไปก็มีผลต่ออายุการใช้งานของช่วงล่างและการบังคับควบคุมบ้าง
 
ค่า PCD คือ ระยะห่างของกึ่งกลางนอตล้อที่อยู่ตรงข้ามกัน (กรณีที่นอตล้อมี 3 หรือ 5 ตัว) มีหน่วยเป็นมิลลิเมตร ถ้านอตล้อเป็นเลขคี่ก็ต้องลากเส้นวงกลมผ่านกึ่งกลางตัวนอตทั้งหมด แล้วก็วัดค่าจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่งโดยลากผ่านเส้นผ่านศูนย์กลาง
 
 
แต่ไม่ได้ยุ่งยากขนาดนั้น ในการหาจริงๆ เพียงเปิดข้อมูลประจำรถหรือสอบถามไปยังศูนย์บริการจะง่ายกว่า หรือไม่ก็ถอดล้อมา 1 วงแล้วดูด้านหลังจะมีปั๊มเอาไว้ เช่น 5×114.3 นั่นหมายความว่า เป็นล้อแบบ 5 รู และค่า PCD คือ 114.3 หรืออาจจะเป็นค่าอื่นๆ ก็ได้ ขึ้นอยู่กับการออกแบบของรถแต่ละรุ่นเป็นสำคัญ ลำพังรถยี่ห้อเดียวกันยังมีค่า PCD ที่แตกต่างกันเลย
 
แล้วค่า PCD ที่ใกล้เคียงกัน เช่น 4 รู 98 กับ 4 รู 100 ต่างกันแค่ 2 มิลลิเมตร บางทีฝืนๆ ยัดๆ เข้าไปก็ยังใส่ได้เลย ไม่เห็นจะน่ามีปัญหา บางทีเจอช่างมักง่ายเอาตะไบกลมตะไบให้ซะเลย เข้าได้สะดวกโยธิน แต่ผลที่ตามมาคือนอตล้อไม่นั่งบ่าแบบแนบสนิท เวลาใช้งานไปนานๆ ตกหลุมหรือกระเทือนมากๆ นอตมีการคลายตัว วิ่งๆ อยู่อาจจะมีอาการล้อหลังแซงล้อหน้าได้ เบื้องต้นในการดัดแปลง บางครั้งเราจะเห็นว่ามีล้อบางรุ่นสามารถใส่ได้ทั้ง 4 รู 100 และ 4 รู 114.3 โดยการออกแบบรูล้อเป็น 8 รูซะเลย แบบนี้เอามาใส่กันได้ไม่มีปัญหา แต่บางครั้งช่างก็ดัดแปลงโดยการ ‘เจาะรูใหม่’ จากเดิมไม่ว่าจะเป็น 4 รู 100 หรือ 5 รู 100 เอามาเจาะใหม่เป็นแบบ 4 หรือ 5 รู 114.3 ถามว่าทำได้ไหม ตอบเลยว่าได้ แต่ถามว่าดีหรือป่าวตอบเลยว่าไม่ เนื่องจากหน้าแปลนล้อมักจะทำเป็นช่องโปร่งสลับตัน ตรงที่เป็นเนื้ออัลลอยตันๆ มักจะเป็นจุดที่เอาไว้เจาะรูสำหรับนอตล้อ ถ้าการเจาะเพิ่มรูที่ไปตรงกับช่องโปร่งๆ จะทำให้ความแข็งแรงในการยึดล้อกับดุมลดลง กระแทกแรงๆ อาจจะทำให้ล้อแตกร้าวได้
 
นอกจากนี้ยังมีการดัดแปลงโดยการ ‘รองสเปเซอร์’ โดยทำหน้าแปลนสองชั้นเพื่อแปลง PCD จากเดิมให้เป็นค่า PCD ใหม่ เช่น ของเดิมเป็น 4 รู 100 รองสเปเซอร์เพื่อเปลี่ยนเป็น 4 รู 114.3 เพราะหาล้อแม็กง่ายมีสวยๆ เยอะ เป็นการดัดแปลงที่มีผลต่อความปลอดภัยอยู่ดี มีผลิตสำเร็จรูปจำหน่ายหลายยี่ห้อ ส่วนงานเหล็กที่ส่งโรงกลึงทำนั้นส่วนมากก็จะไม่ค่อยสวยและอาจมีสนิมภายหลัง แต่ผลที่ตามมาก็คือตัวสเปเซอร์จะมีความหนาเฉลี่ย 2-2.5 นิ้ว นั่นจะทำให้ต้องเลือกค่าออฟเซตของล้อใหม่ให้เหมาะสม และอาจจะต้องพับซุ้มล้อหรือตีโป่งเพิ่มเพื่อไม่ให้ล้อขูดกับตัวถังรถ
 
เดิมนั้นล้อจะยึดกับดุมโดยตรงมีความมั่นคงแน่นหนามาก เมื่อรองสเปเซอร์เข้าไปจะต้องใช้นอตยึดสเปเซอร์แผ่นแรกเข้ากับดุมล้อ แล้วใช้สเปเซอร์แผ่นที่สองยึดเข้ากับแผ่นแรกอีกที แผ่นนี้จะเป็นรูที่มี PCD ใหม่ตามที่เราต้องการ แล้วถึงจะเอาล้อมายึดกับสเปเซอร์อีกที ทำให้ต้องยึดนอตถึงสามชั้น แน่นอนว่าโอกาสที่จะทำให้นอตคลายมีสูงขึ้นและบางครั้งก็ทำให้ล้อแกว่งได้ง่ายถ้าสเปเซอร์คุณภาพไม่ดี โดยเฉพาะล้อหน้ามักจะมีปัญหามากทีเดียว สเปเซอร์ดีๆ ชุดหนึ่งหลายพันบาทหรืออาจจะทะลุหมื่นบาท เจ้าของรถมักจะเลือกเจาะรูแม็กใหม่เพราะเฉลี่ยแล้วค่าเจาะไม่น่าจะเกินชุดละ 2,000-3,000 บาท
 
ช่างบางคนมองเห็นปัญหานี้ก็เลยหาทางดัดแปลงอีกวิธีนั่นก็คือการ ‘เจาะดุมล้อ’ วิธีนี้ไม่ต้องรองสเปเซอร์ ดัดแปลงแล้วล้อก็ยังยึดกับดุมได้โดยตรง แต่ปัญหามันก็เหมือนกับการเจาะแม็ก คือดุมล้อตรงจุดที่ไม่ใช้ยึดนอตล้อมักจะบาง เพราะต้องการลดน้ำหนักและทำให้เกิดความแข็งแรง เพราะไปเจาะตรงที่เหล็กบางความแข็งแรงมันก็ลดลง โอกาสดุมล้อแตกหรือนอตคลายก็มีมาก และค่าดัดแปลงก็ไม่ถูกนัก เมื่อการดัดแปลงพบปัญหาเรื่องความปลอดภัย ช่างที่พิถีพิถันก็เลือกการดัดแปลงใหม่ โดยการเอาดุมล้อของรถรุ่นอื่นมาใส่ เช่น ของเดิมเป็นแบบ 4 รู 100 ต้องการเปลี่ยนเป็น 5 รู 100 หรือ 114.3 ก็ไปเอาดุมล้อของรถรุ่นอื่นมาใส่ แล้วเปลี่ยนเบอร์ลูกปืนใหม่ หรือกลึงแกนล้อใหม่ วิธีนี้ปลอดภัยแต่ต้องลงทุนสูงมากแต่ในระยะยาวถือว่าคุ้ม ก็ต้องคำนวณดีๆ นะครับเพราะค่าดัดแปลงแบบนี้มันสูง เผลอๆ รวมกับค่าล้อแล้วสามารถไปซื้อล้อที่ PCD ตรงรุ่นสวยๆ แพงๆ ได้เลย

 

ออฟเซตคืออะไร?

 
เรื่องต่อมาที่ต้องรู้คือเรื่องระยะของออฟเซตของล้อ รถคุณนั้นออกแบบมาสำหรับออฟเซตล้อเท่าไหร่กัน เพราะค่าออฟเซตที่ผิดไปถ้ายัดไม่เข้ามันก็ล้นแนวตัวถังออกมา เวลาล้อมีการยุบตัวมากๆ ก็อาจจะเสียดสีกับตัวถัง หรือถ้าหุบเข้าไปข้างในมากจนอาจจะทำให้เลี้ยวแล้วติดด้านใน หรือล้อเบียดกับแกนโช้กอัพ หรือเสียดสีกับตัวถัง ระยะยาวก็จะทำให้ลูกปืนล้อ ลูกหมาก ฯลฯ สึกหรอเร็วกว่าปกติ รวมถึงอาจจะทำให้พวงมาลัยหนักขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย
 
  • ค่าออฟเซต คือค่าที่วัดจากกึ่งกลางความกว้างของกระทะล้อกับหน้าแปลนของล้อที่จะไปสัมผัสกับดุมล้อ
  • ค่าออฟเซตที่เป็น 0 แสดงว่ากึ่งกลางของความกว้างล้อนั้นจะตรงกับแนวหน้าแปลนพอดี
  • ออฟเซตที่เป็นบวก แสดงว่ากึ่งกลางของความกว้างล้อจะขยับเข้าไปหาตัวรถ เป็นสไตล์ของล้อสำหรับรถขับเคลื่อนล้อหน้า และรถขับหลังฝั่งญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา
  • ออฟเซตที่เป็นลบ หมายความว่า แนวกึ่งกลางของล้อนั้นขยับออกด้านนอกตามแนวตัวถังรถ เป็นลักษณะของรถขับเคลื่อนล้อหลังยุคเก่าๆ ปัจจุบันแทบจะไม่มีแล้ว
ในรถทั่วไป การเปลี่ยนล้อต้องคำนึงถึงระยะออฟเซตเป็นสำคัญเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังที่กล่าวมา ซึ่งผู้ผลิตล้อแม็กจะออกแบบล้อมาให้เลือกหลายออฟเซตตามที่รถส่วนใหญ่มีใช้ ถ้าจะเปลี่ยนล้อไม่จำเป็นต้องหน้ากว้างมาก ยิ่งกว้างมากยางยิ่งแพงและอาจจะต้องตัดเฉือนตัวถัง เลือกหน้ากว้างพอดีๆ ออฟเซตพอดีๆ ก็สวยเต็มซุ้มล้อแล้ว

 

ล้อและยางมีการออกแบบมาสำหรับรถเฉพาะแบบ

 
โดยเฉพาะผู้ที่ใช้รถ SUV หรือ MPV หรือแม้แต่รถกระบะทั้งหลายต้องระวังไว้ให้ดี พวกที่ชอบเอาล้อของรถเก๋งมาใส่ แม้ว่ามันจะใส่ได้พอดี แต่เรื่องน้ำหนักมันอาจจะรับไม่ไหวเมื่อเกิดการกระแทกหรือเกินขีดจำกัดของล้อ อาจจะทำให้ล้อแตกหักขณะที่รถกำลังวิ่ง
 
ในความเป็นจริงนั้น เจ้าของรถต่างหากที่นำล้อมาใช้แบบผิดประเภท ที่หลังล้อจะมีการปั๊มดัชนีการรับน้ำหนักของล้อแต่ละวงเอาไว้ เช่น 500 kg. แสดงว่าล้อวงนั้นรับน้ำหนักสูงสุดได้ไม่เกิน 500 กิโลกรัม ในรถ 4 ล้อก็จะกลายเป็น 2,000 กิโลกรัม เพราะเป็นการใช้น้ำหนักเฉลี่ย หมายความว่ารถและน้ำหนักบรรทุกต้องไม่เกิน 2,000 กิโลกรัมจึงจะมีความปลอดภัย รวมถึงดัชนีการรับน้ำหนักของยางก็ต้องสัมพันธ์กัน ไม่ใช่ว่าล้อรับน้ำหนักได้ 500 กิโลกรัม แต่ไปเลือกยางที่รับน้ำหนักได้ 350 กิโลกรัมต่อเส้น แบบนี้ก็ทำให้เกิดอันตรายได้ง่าย
 
การคำนวณก็ไม่ใช่เรื่องยาก เปิดสเปคดูน้ำหนักรถเปล่าแล้วเอามาบวกจำนวนคนนั่ง เฉลี่ยไปสัก 5 คน คนละ 70 กิโลกรัมเป็นอย่างต่ำ รวมถึงน้ำหนักที่ต้องบรรทุกสูงสุด บวกกันแล้วหาร 4 ก็จะรู้ว่าล้อและยางแต่ละเส้นต้องรับน้ำหนักได้เท่าไหร่ เคยพบเจอมาในรถตู้ที่แต่งสวยๆ มีปัญหาเรื่องยางบวมบ้าง ล้อแตกบ้างอยู่บ่อยๆ มานั่งพิจารณายางและล้อถึงได้พบว่าเอาของรถเก๋งมาใช้ ทำให้ดัชนีการรับน้ำหนักผิดเพี้ยนไปมาก กระแทกไม่แรงมากยางก็บวม กระแทกแรงมากล้อแตกด้วยเลยก็มี ดังนั้นจะเอาสวยอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยมันก็ไม่เหมาะ
 
 

หลากหลายปัญหาหลังจากเปลี่ยนล้อ

 
แม้ว่าล้อที่เปลี่ยนใหม่จะมีค่า PCD และออฟเซตถูกต้อง แต่พอเอาไปวิ่งแล้วเกิดอาการสั่นสะท้าน ถ่วงแล้วก็ไม่หายเพราะมองข้ามบางสิ่งบางอย่างไป มักเป็นเพราะว่าร้านไม่ได้ให้คำแนะนำในเรื่องของ Center Hub เนื่องจาก Center Hub ของหน้าแปลนล้อกับล้อที่เปลี่ยนใหม่มักไม่เท่ากัน เมื่อมีระยะห่างเล็กน้อย เวลาล้อหมุนด้วยความเร็วรอบสูงๆ จะเกิดการแกว่ง แม้เพียงเล็กน้อยก็จะทำให้เกิดอาการสั่นสะท้านแล้ว
 
เส้นผ่านศูนย์กลางของ Center Hub แม้ว่าคุณจะเลือกค่า PCD และออฟเซตได้อย่างถูกต้อง แต่ถ้าค่า Center Hub ไม่เท่ากับหน้าแปลนของดุมล้อก็มีปัญหาอีก ถ้าเล็กกว่าก็ยัดไม่เข้า ถ้าใหญ่กว่าก็จะทำให้ล้อแกว่งหรือส่ายขึ้นมาอีก ประเภทที่ถ่วงจี้กันหลายๆ ครั้งก็ไม่หาย ลองย้อนกลับมาดูที่ตัวนี้กันสักหน่อย ถ้ามันไม่ฟิตพอดีก็ก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้มาก แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรนัก เพราะสามารถดัดแปลงได้ไม่ยากเย็น
 
กรณีที่หลวม คือดุมที่ล้อแม็กใหญ่กว่าก็ให้โรงกลึงทำปลอกขึ้นมาเพื่อให้ฟิตพอดี ถ้ามันเล็กกว่าก็สามารถกลึงให้กว้างขึ้นได้ ซึ่งไม่มีผลต่อเรื่องความแข็งแรงของล้อแม็ก เนื่องจากส่วนนี้มีเนื้อที่เหลือพอสำหรับการดัดแปลง แต่ส่วนใหญ่แล้วจะมีแหวนรองสำหรับทำให้ล้อฟิตพอดีกับหน้าแปลนล้อ แต่ถ้าไม่มีก็สามารถกลึงได้อย่างที่บอกไปข้างต้น แล้วปัญหาที่ว่านี้ก็จะไม่เกิดขึ้น
 
อีกเรื่องหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้เลยคือเรื่องของนอตล้อ เป็นเรื่องที่หลายคนไม่เข้าใจว่าเวลาเปลี่ยนล้อใหม่ทำไมต้องเปลี่ยนนอตล้อด้วย ทั้งๆ ที่ของเดิมก็น่าจะใช้ได้ ที่ต้องเปลี่ยนเพราะว่าหน้าแปลนของนอตกับรูนอตที่ล้อต้องสัมพันธ์กัน
 
ถ้าล้อออกแบบมาเป็น Taper หรือเป็นหน้าแปลนเฉียงก็ต้องเปลี่ยนนอตให้เป็น Taper เช่นกัน เพราะจะได้ฟิตพอดี เนื่องจากล้อต้องรับภาระน้ำหนักของรถทั้งคัน เพราะถ้าเลือกนอตไม่ถูกอาจทำให้นอตเกิดการหลวมคลอนได้ง่าย จะส่งผลต่อความปลอดภัยในการขับขี่โดยตรง เมื่อนอตล้อหลวมคลอนก็จะทำให้ล้อแกว่งและหลุดในที่สุด ฉะนั้นต้องดูที่ล้อใหม่ว่าสเปคเป็นอย่างไร ปัจจุบันนอตล้อมีใช้ด้วยกันหลายแบบแต่หน้าแปลนแบ่งเป็น 3 แบบ
 
แบบแรกได้กล่าวถึงไปแล้ว แบบที่สองจะเป็นแบบ Radius หน้าแปลนจะมีความโค้งมน ส่วนมากใช้กับกระทะล้อเหล็ก แบบสุดท้ายเป็นแบบ Flat จะเป็นหน้าแปลนแบบเรียบ แบบนี้รูนอตที่ล้อจะค่อนข้างใหญ่เพราะตัวนอตมีลักษณะเป็นเหมือนบูชในตัว
 
การที่ต้องมีหน้าแปลน อีกเหตุผลก็เพราะว่าต้องการให้ล้อได้เซ็นเตอร์ เพราะรูนอตที่กระทะจะใหญ่กว่าตัวนอตมากเพื่อให้ใส่ล้อได้ง่าย หน้าแปลนแบบต่างๆ จะช่วยทำให้ล้อได้เซ็นเตอร์เมื่อไขจนแน่นได้ที่ การไขนอตล้อจึงจำเป็นจะต้องไขสลับกันโดยเน้นด้านตรงข้ามก่อนและจะไม่ไขแน่นทีเดียว จะต้องไล่ด้วย แรงไขที่เท่าๆ กันทีละนิดจนกว่านอตจะแน่นทั้งหมด
 
การแต่งเติมเสริมหล่อนั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่เพราะเป็นเรื่องที่เจ้าของรถส่วนใหญ่อยากทำอยากให้รถตัวเองสวยงาม เพียงแต่ว่าการเลือกใช้ล้อและยางนั้นต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเองและผู้ที่โดยสารไปด้วยเป็นสำคัญ ถ้าจะเปลี่ยนเป็นนอตอะลูมิเนียมสวยๆ ก็ต้องซื้อประแจถอดล้อดีๆ ไว้ด้วย อย่าใช้ปืนลมเด็ดขาดเพราะจะทำให้เกลียวเสียหายได้
 
เนื่องจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เรามองข้ามนั้นมันมีผลโดยตรงต่อความปลอดภัย ทุกครั้งที่มีการถอดใส่ล้อ เช่น การปะยางหรือสลับยางต้องให้ร้านเช็กความแน่นหนาให้เรียบร้อย ต้องปล่อยรถลงจากแม่แรงแล้วใช้ประแจขันด้วยมือซ้ำอีกครั้ง หรือถ้าจะให้ดีก็ใช้ประแจปอนด์ไขซ้ำ อย่าไว้ใจบล็อกลมเด็ดขาด แม้จะดูว่าแน่นกว่าการไขด้วยแรงคน แต่บ่อยครั้งไปที่มันไม่แน่นอย่างที่คิด


บทความที่น่าสนใจ

เทียบสเปครถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ราคา แรงม้า แบตเตอรี่ ระยะทางที่วิ่งได้ !!

Nopkung

เช็คลิสต์!! 11 ข้อ สำหรับมือใหม่และคนที่ร้างมือไปนาน พร้อมออกถนนได้อย่างมั่นใจอีกครั้ง

idiot

เผยเคล็ดลับการขับขี่รถยนต์ในเวลากลางคืนให้ปลอดภัย

idiot

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy