ที่ผ่านมาหลายๆคนที่โดนใบสั่งทำผิดกฎจราจรมักจะไม่ยอมไปเสียค่าปรับ เนื่องจากระบบฐานข้อมูลของตำรวจและกรมขนส่งอาจไม่เชื่อมต่อกัน ทำให้ไม่สามารถนำคนกระทำความผิดมาเสียค่าปรับได้ แต่สิ่งเหล่านี้กำลังจะหมดไป เนื่องจากทางตำรวจนครบาลจะเอาจริงในการให้ผู้กระทำความผิดตามกฎหมายจราจร และไม่มาชำระค่าปรับภายในระยะเวลาที่กำหนด จะต้องรับโทษทางกฎหมาย และมีประวัติขึ้นในระบบฐานข้อมูลตำรวจ
พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก โฆษก บช.น. ได้กล่าวว่าที่ผ่านมามีผู้ใช้รถยนต์ที่โดนโทษปรับการกระทำผิดกฎจราจร จำนวนมาก ไม่ยอมเสียค่าปรับ โดยจากข้อมูลที่มีนั้นมีคนที่ค้างจ่ายค่าปรับรวมกันสูงสุดถึง 59 ใบเลยทีเดียว
โดยมาตรการในการบังคับใช้กฎหมายใหม่ของ บช.น. คือ หากได้รับใบสั่งแต่ไม่ยอมชำระค่าปรับ จะถูกออกหมายเรียก หากไม่มาพบเจ้าหน้าที่ก็จะส่งเรื่องไปที่ศาลเพื่อออกหมายจับ ซึ่งกระทบต่อเดินทางออกนอกประเทศ และกลายเป็นคนมีคดีติดตัว ซึ่งเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ 20 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป ซึ่งทางตำรวจจะเริ่มส่งจดหมายเพื่อย้ำเตือนให้ผู้กระทำผิดมาจ่ายค่าปรับให้ครบถ้วน ซึ่งจะมีผลย้อนหลัง 1 ปีตามข้อกฎหมาย โดยจะแบ่งขั้นตอนการเรียกออกเป็น 3 ขั้นตอนได้แก่
1. ออกใบเตือน
เมื่อได้ใบสั่งแล้วไม่ชำระค่าปรับตามระยะเวลาที่กำหนดในใบสั่ง ตำรวจจะออกใบเตือน จัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ภายใน 15 วัน โดยให้ถือว่าได้รับแจ้ง เมื่อพ้นกำหนด 15 วัน นับแต่วันส่ง และต้องชำระค่าปรับภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
2. ออกหมายเรียก
เมื่อไม่ชำระค่าปรับตามใบเตือน ตำรวจจะส่งข้อมูลไปยังกรมการขนส่งทางบกดำเนินการตามมาตรการงดออกเครื่องหมายการเสียภาษีฯ และพนักงานสอบสวนจะออกหมายเรียกให้มาชำระค่าปรับ
3. ออกหมายจับ
เมื่อไม่มาตามหมายเรียก 2 ครั้ง จะยื่นคำร้องอนุมัติศาลออกหมายจับ กรณีเบี้ยวจ่ายค่าปรับจราจร มีความผิดมาตรา 155 ผู้ใดไม่ชำระค่าปรับในเวลาที่กำหนด โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษ ปรับ ไม่เกิน 1,000 บาท ในขั้นตอนนี้ผู้ต้องหาต้องเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนด้วยตนเอง ฯ สถานีตำรวจที่ออกหมายเรียกเท่านั้น
หากถูกออกหมายเรียกหรือหมายจับ ผู้กระทำความผิดจะถูกแจ้งข้อกล่าวหา ตามข้อหาที่ผู้ต้องหากระทำผิดตามใบสั่ง ซึ่งมีความผิดข้อหาตามมาตรา 155 ที่ระบุว่า ผู้ใดไม่ปฏิบัติตาม ข้อกฎหมายมาตรา 141 (ชำระค่าปรับในเวลาที่กำหนดในใบสั่ง) โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท โดยสามารถเข้าไปตรวจสอบประวัติใบสั่งของคุณได้ที่เว็ปไซต์ ptm.police.go.th
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : pptvhd36.com / freepik.com