fbpx
ทดลองขับ Honda City 1.0 Turbo

ทดลองขับ Honda City 1.0 Turbo รถยนต์ Eco Car Phase 2 ที่มาพร้อมขุมพลังเกินตัว

เปิดตัวกันมาได้ร่วมๆ 2 เดือนแล้วกับ Honda City 1.0 Turbo ใหม่ ทางบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ก็ได้มีโอกาสพาสื่อมวลชนไปทดลองขับกัน ซึ่งเส้นทางที่ฮอนด้า เลือกไปทดลองขับกันนั้นก็เป็นที่จังหวัดเชียงราย

เป็นเส้นทางถนนบายพาสเส้นใหม่ที่สร้างเสร็จสมบูรณ์กันเมื่อไม่นาน มุ่งหน้าสู่ อำเภอเชียงของ กับระยะทางไปกลับประมาณ 200 กิโลเมตร ส่วนเส้นทางก็มีทั้งทางตรง โค้งขึ้นเขา ลงเขา ครบเครื่องจริงๆ ทำให้ได้ทดลองสมรรถนะเครื่อง และยังได้ทดลองในส่วนของช่วงล่างกับแบบเต็มๆ

ก่อนไปทดลองขับขอพูดถึงตัวรถ Honda City 1.0 Turbo ใหม่กันก่อน นั้นเดิมทีเป็นรถที่อยู่ในหมวดหมู่ของ B Segment แต่พอมาเป็นเจเนอเรชันที่ 5 นี้แล้วทาง ฮอนด้า ได้ลดหมวดหมู่จาก B Segment มาอยู่ที่ City Car (Eco Car) เท่านั้น แต่ขนาดก็ไม่ได้เล็กตามแถมยังใหญ่ขึ้นอีกต่างหาก

โดยมีมิติตัวถังรถ ยาว 4,553 มม. กว้าง 1,748 มม. สูง 1,467 มม. ระยะฐานล้อ 2,589 มม. ความกว้างช่วงล้อหน้า 1,497 มม. ความกว้างช่วงล้อหลัง 1,483 มม. ระยะต่ำสุดใต้ท้องตัวรถ 135 มม. เมื่อนำไปเทียบกับ Honda City รุ่นก่อน ซึ่งมีความยาว 4,440 มม. กว้าง 1,695 มม. สูง 1,471 มม. ระยะฐานล้อ 2,600 มม. จะพบว่า Honda City ใหม่ มีความยาวเพิ่มขึ้น 113 มม. กว้างขึ้น 53 มม. แต่เตี้ยลง 4 มม. และมีระยะฐานล้อสั้นลง 11 มม. ซึ่ง Honda City 1.0 Turbo ใหม่ มีให้เลือกทั้งหมด 4 รุ่น ได้แก่

  • รุ่น RS ราคา 739,000 บาท
  • รุ่น SV ราคา 665,000 บาท
  • รุ่น V ราคา 609,000 บาท
  • รุ่น S ราคา 579,500 บาท

ในส่วนของภายนอกก็จะคล้ายๆ รุ่นพี่ทั้ง 2 รุ่นอย่าง Accord และ Civic แต่ย่อส่วนลงมา ซึ่งก็ได้รับการออกแบบภายใต้แนวคิด Standing on The Edge” ที่สะกดทุกสายตาด้วยเส้นสายที่เฉียบคมต่อเนื่องรอบคัน มาพร้อมโครงสร้างตัวถังในสไตล์ Wide & Low ในรุ่น RS นั้นก็จะมีความแตกต่างจากรุ่น SV อยู่ไม่กี่จุดเท่านั้น เพราะจริงๆ แล้วเจ้ารุ่น SV นั้นทาง ฮอนด้า ถือว่าเป็นตัว TOP ของรุ่นส่วน RS จะเป็นตัวพิเศษที่เพิ่มรุ่นเข้ามาเท่านั้น ในส่วนที่แตกต่างกันก็จะมี

  • ชุดแต่งสไตล์สปอร์ตแบบ RS รอบคัน กระจังหน้าแบบ Gloss Black และสัญลักษณ์ RS และสปอยเลอร์หลังแบบ Gloss Black พร้อมสัญลักษณ์ RS
  • ไฟหน้าดีไซน์ใหม่แบบ LED (ในรุ่น SV ลงไปจะเป็นแบบโปรเจคเตอร์)
  • ไฟตัดหมอกแบบ LED (ในรุ่น SV ลงไปจะไม่มีให้)
  • กระจกมองข้างสีดำแบบสปอร์ตพร้อมไฟเลี้ยวในตัว (ในรุ่น SV ลงไปครึ่งบนจะมีสีเดียวกับตัวรถ)
  • ล้ออัลลอยดีไซน์สปอร์ตขนาด 16 นิ้ว (ในรุ่น SV ลงไปจะเป็นขนาด 15 นิ้ว แต่ในรุ่น S เป็นล้อกระทะ พร้อมฝาครอบ)

ส่วนของภายนอกก็มีจุดที่แตกต่างไม่มากเท่ากับภายใน ซึ่งยังสามารถหามาเติมแต่งได้เองไม่ยาก มาดูภายในกันบ้างดีกว่าว่าจะต่างกันมากแค่ไหน ระหว่างรุ่น RS กับรุ่นอื่นๆ

  • เบาะนั่งที่ใช้วัสดุด้วยกัน 3 ชนิด หนังกลับต่อผ้าต่อวัสดุหนังสังเคราะห์ตกแต่งด้วยด้ายแดง (รุ่น SV จะเป็นวัสดุหนังสังเคราะห์ รุ่น V และ S จะเป็นผ้า)
  • สีภายในห้องโดยสารจะออกโทนดำทั้งหมด (ในรุ่น SV ลงไปจะเป็นทูโทน)
  • คอลโซลกลางมีที่วางแขน (จะมีในรุ่น RS และ SV)
  • ระบบเครื่องเสียงหน้าจอขนาด 8 นิ้วแบบ Advanced Touch (จะมีในรุ่น RS และ SV)
  • ช่องเชื่อมต่อ USB ที่ด้านหน้า 2 จุด (จะมีในรุ่น RS และ SV รุ่นอื่นๆ 1 จุด)
  • ช่องจ่ายไฟสำรอง ด้านหน้า 1 ตำแหน่ง ด้านหลัง 2 ตำแหน่ง (ด้านหลังมีแต่ในรุ่น RS เท่านั้น)
  • มาตรวัดเรืองแสงพร้อมหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่จะเป็นสีแดง (ในรุ่น SV ลงไปจะเป็นสีขาว)
  • ระบบเชื่อมต่อ Honda Connect (มีเฉพาะรุ่น RS เท่านั้น)
  • ระบบควบคุมการเปลี่ยนเกียร์ที่พวงมาลัย Paddle Shift (มีเฉพาะรุ่น RS เท่านั้น)
  • ระบบควบคุมความร็วอัตโนมัติ Cruise Control System (มีเฉพาะรุ่น RS เท่านั้น)
  • ม่านถุงลมนิรภัยด้านข้าง (มีเฉพาะรุ่น RS เท่านั้น)

ทั้งภายนอกและภายในก็มีแตกต่างกันพอสมควร รวมถึงราคาที่ต่างกันกว่า 74,000 บาท ก็อยู่ที่การตัดสินใจว่าชอบรุ่นไหน และความเหมาะสมกับเงินในกระเป๋า

เรามาต่อที่การทดลองขับกันดีกว่า ระยะทางที่ทดลองขับกันก็ประมาณ 200 กิโลเมตร จากในตัวเมืองเชียงราย มุ่งหน้าสู่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เป็นบายพาสสายใหม่ที่เพิ่งทำเสร็จได้ไม่นาน เส้นทางมีครบทุกรูปแบบ ทางตรงยาวๆ โค้งทั้งขึ้นเขา และลงเขา สภาพจราจรรถเยอะ รถน้อย

เริ่มต้นของการเดินทางขอเป็นผู้โดยสารก่อน เพื่อสัมผัสดูความกว้างขวางของรถ Honda City กันก่อนเนื่องจากเค้านำรถในกลุ่ม B Segment ลงมาทำตลาดในกลุ่ม City Car (Eco Car) ความกว้างขวางคงไม่ต้องพูดถึง แรกได้ลงนั่งในผู้โดยสารตอนหน้า รู้สึกภายในดูสวย (ในรุ่น RS ภายในออกแนวโทนดำทั้งหมด) กว้างดีไม่อึดอัด เบาะนั่งๆ สบายแต่ปีกที่โอบด้านข้างตัวบางไปนิดนึงเวลานั่งลงไปยังไม่ค่อยกระชับเท่าไหร่ (ต้องบอกว่าผมค่อนข้างตัวใหญ่และสูง 187 ซ.ม.) การใช้งานระบบต่างก็ใช้งานสะดวกเอื้อมหยิบจับได้ง่าย

หลังจากได้ลองข้างหน้าแล้วก็ต้องมาลองที่นั่งผู้โดยสารตอนหลังกันสักหน่อย โดยที่นั่งผู้โดยสารในตอนหน้ายังอยู่ตำแหน่งเดิมที่ผมนั่งอยู่ พอลงนั่งก็ยังมีพื้นที่เหลืออยู่นิดหน่อยระหว่างพนักผิงกับเข่า ก็ยังพอขยับได้อยู่ยิ่งถ้าคนตัวเล็กนั่งตอนหน้าพื้นที่จะกว้างขึ้นอีกเยอะ แล้วก็พื้นที่เหนือศรีษะก็ยังมีพื้นที่เหลืออยู่พอสมควร ตรงกลางมีที่ท้าวแขนพร้อมที่วางแก้วให้ (มีเฉพาะรุ่น RS เท่านั้น) และมีช่องจ่ายไฟสำรองให้ 2 ช่องแต่ก็ต้องหาตัวแปลงเป็น USB มาเสียบถึงจะชาร์จโทรศัพท์มือถือได้ (มีเฉพาะรุ่น RS เท่านั้น)

นั่งมาได้สักครึ่งทางก็ได้มีโอกาสทดลองขับ Honda City 1.0 Turbo ที่มากับเครื่องยนต์ 1.0 ลิตร DOHC VTEC TURBO 3 สูบ 12 วาล์ว มาพร้อม Turbo Charger ให้กำลังสูงสุด 122 แรงม้า ที่ 5,500 รอบต่อนาที และให้แรงบิดสูงสุด 173 นิวตัน-เมตร ที่ 2,000 – 4,500 รอบต่อนาที ทำให้สมรรถนะการขับขี่ที่เหนือกว่าเครื่องยนต์ขนาด 1.5 ลิตร (เมื่อเทียบกับรุ่นเดิม) และแรงบิดเทียบเท่าเครื่องยนต์ขนาด 1.8 ลิตร ผสานการทำงานกับระบบเกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผันต่อเนื่อง (CVT) แต่ทางฮอนด้ามีการกำหนดจำนวนเกียร์มาอยู่ที่ 7 สปีด

เริ่มต้นทดลองขับก็เป็นเส้นทางขึ้นเขา ลงเขาเป็นระยะๆ อยู่หลายกิโลเมตรพอสมควร ซึ่งอัตราเร่งในการขึ้นเขากำลังเหลือเฟือจริงๆ กับระบบช่วงล่างที่ให้มาด้านหน้าเป็น Macpherson Strut อิสระ พร้อมเหล็กกันโครง ด้านหลังเป็น Torsion Beam พ่วงด้วยระบบช่วยควบคุมการทรงตัวขณะเข้าโค้ง (Vehicle Stability Assist – VSA) เวลาเข้าโค้งเกาะถนนได้ดีในช่วงความเร็วไม่มากไม่เกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่เมื่อเพิ่มความเร็วขึ้นไปเกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อาจจะมีอาการนิดหน่อยรวมถึงพวงมาลัยมีความไวพอสมควร มีช่องว่างระหว่างซ้าย ขวาน้อยมาก ทำให้ช่วงโค้งขึ้นเขา ลงเขามีอาการเหวี่ยงมึนหัวได้นิดหน่อยแม้จะเป็นผู้ขับขี่ก็ตาม

พอสิ้นสุดเส้นทางบนเขาก็มาถึงช่วงได้ลองพละกำลัง 122 แรงม้า กับแรงบิดที่ 173 นิวตันเมตรของ Honda City จะมีดีสักเท่าไหร่ เริ่มต้นด้วยการวัด 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กันก่อนเลยกดเอาโหมด Econ ออก เริ่มโหมดแรกเกียร์ D ปกติ เวลาที่ทำออกมาได้อยู่ที่ 11.21 วินาที ต่อเนื่องกันด้วยในโหมดเกียร์ S หรือ Sport นั้นเอง ซึ่งผลที่ได้เป็นที่น่าตกใจมากๆ ได้เวลาอยู่ที่ 10.60 วินาทีเท่านั้น ถ้านำ 2 โหมดมาเปรียบเทียบกัน จะมีความรู้สึกคล้ายๆ กันช่วงต้นจะออกตัวช้านิดนึงแต่พอเลยเกียร์ 2 ไปแล้วระบบเกียร์ CVT ทำงานได้รวดเร็วมากขึ้น อาจจะมีการกระชากของเกียร์ทำให้ได้อารมณ์สปอร์ตนิดหน่อย การทดลองสุดท้ายจริงๆ ก็ไม่ค่อยอยากเท่าไหร่กับความเร็วสูงสุด มันมีเส้นทางที่อำนวยพอดีก็เลยจัดกันมาหน่อย ซึ่งก็ได้ประมาณ 205 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้ระยะทางไม่ไกลมากกับการไต่ให้ถึงความเร็วเท่านี้ต้องยอมจริงๆ กับเครื่องยนต์ 1.0 Turbo ใน Honda City ใหม่นี้ แต่ก็มีอาการบ้างพอสมควรเครื่องแรงจริง แต่ช่วงล่าง ยาง แม็กซ์ ไปด้วยกันไม่ค่อยได้ ใครจะซื้อไปใช้แล้วชอบแต่งแนวซิ่งก็จัดแจงเปลี่ยนได้เลยนะครับ เสียเพิ่มอีกหน่อยปลอดภัยขึ้นเยอะ

สุดท้ายก็คงหนีไม่พ้นอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันซึ่งทาง ฮอนด้า เคลมไว้ที่ 23.8 กิโลเมตรต่อลิตร ซึ่งเยอะสุดในบรรดารถ City Car (Eco Car) ที่วางจำหน่ายกันอยู่ตอนนี้ จากการทดลองขับ 200 กิโลเมตร เลขที่ออกมาได้อยู่ที่ประมาณ 13 กิโลเมตรต่อลิตรเท่านั้น ต้องบอกก่อนที่ได้น้อยเพราะเรานำรถมาทดลองขับกัน (ไม่ได้ขับตามปกติทั่วไป) เลยใช้เครื่องยนต์กันหนักพอสมควร ทั้งขึ้นเขา ลงเขา ทดลอง 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้ความเร็วกันพอสมควรตลอดเส้นทาง

สรุปปิดท้ายกันสักหน่อยสำหรับ Honda City 1.0 Turbo ใหม่ ภาพรวมโอเครมาก เครื่องยนต์ดี ภายในลงตัว (ภายในตัว RS เท่านั้นนะครับ) ภายนอกดูดี งบไหวแค่ไหนเล่นตัวนั้นครับ ยังไงก็เครื่องยนต์เดียวกันหมด ภายนอกก็ยังมาแต่งเติมกันได้ อย่างนึงจำเป็นที่สุดก็คงต้องเปลี่ยนแม็กซ์ เปลี่ยนยาง เป็นอันดับแรก เพื่อให้สามารถสนุกกับเครื่องยนต์ 1.0 Turbo ได้อย่างมั่นใจ แต่อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันก็คงน้อยลงไปนะครับ ยังไงก็ไปทดลองขับกันดูได้ที่โชว์รูม ฮอนด้า ทั่วประเทศ ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกซื้อครับ

บทความที่น่าสนใจ

[ทดลองขับ] NEW HONDA CITY 2023 ซิ่งก็ดี ประหยัดก็ได้ 30 กิโลเมตร/ลิตร เป็นได้!

palm

ทดลองขับ All-New Honda CR-V 2023 สองรุ่นสองสไตล์ ฟีลลิ่งต่างกันชัดเจน!

palm

ลอง EMG 6 ปลั๊ก-อิน ไฮบริด 228 แรงม้า สุดยอดเทคโนโลยีของ MG

idiot

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy