fbpx
Cover-ติดแก๊ส

ติดแก๊ส LPG/NGV ข้อดี-ข้อเสีย ที่คุณควรรู้ก่อนนำรถไปติดแก๊ส !!

ในช่วงที่ราคาน้ำมันแพง พลังงานทางเลือกอย่าง แก๊ส LPG และ NGV (ก๊าซธรรมชาติ) มักจะถูกพูดถึงในแง่ของความคุ้มค่าในราคาต่อลิตรที่ถูกกว่ามาก แต่การ “ติดแก๊ส” นั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งในวันนี้ CarVariety จะนำข้อมูลที่คุณควรรู้ หากจะนำรถยนต์ของคุณไปติดแก๊ส มาฝากทุกท่านครับ

ติดแก๊ส LPG

LPG กับ NGV แตกต่างกันอย่างไร ?

ในประเทศไทย จะมีพลังงานทางเลือกหลักๆอยู่ 2 ประเภทคือ แก๊ส LPG และ NGV ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจแก๊สทั้ง 2 ประเภทกันก่อนครับ

LPG – Liquefied petroleum gas คือแก๊สปิโตรเลียมเหลวซึ่งสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงในการประกอบอาหารในครัวเรือน หรือในครัวเรือนเรียกกันว่า “แก๊สหุงต้ม” ซึ่งมันสามารถนำไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมและยานพาหนะได้

ติดแก๊ส LPG
แก็ส LPG ที่ใช้ในรถยนต์คือแก๊สตัวเดียวกับที่ใช้ในครัวเรือน Cr : ptt-gas.com

 

NGV – Natural Gas for Vehicles  คือก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ เรียกอีกชื่อคือ CNG หรือ ก๊าซธรรมชาติอัด (Compressed Natural Gas: CNG) ส่วนใหญ่จะนิยมใช้ในรถแท๊กซี่ หรือรถที่โรงงานติดก๊าซ CNG มาให้แล้ว เช่น Toyota Altis CNG หรือ Honda City CNG เป็นต้น

NGV
แก๊ส NGV หรือ CNG เป็นก๊าสธรรมชาติสำหรับรถยนต์

 

โดยในปัจจุบันความนิยมในแก๊ส NGV ลดลงไปมาก เนื่องจากสถานีบริการมีน้อย รวมถึงราคาที่สูงกว่าแก๊ส LPG และระยะทางที่สามารถวิ่งได้ที่น้อยกว่าแก๊ส LPG (แก๊ส NGV เติมเต็มถึงอาจวิ่งได้ราวๆ 200 กม. ในขณะที่ LPG อาจสามารถวิ่งได้ถึง 400-450 กม. ขึ้นอยู่กับขนาดของถัง)

 

ถังโดนัท – ถังแคปซูล คืออะไร แตกต่างกันอย่างไร ?

อีกหนึ่งคำถามยอดฮิตของคนที่จะนำรถไปติดแก๊ส ว่าเราควรเลือกถังแก๊สแบบไหนดีระหว่างถังโดนัทกับถังแคปซูล ?

  • ถังแคปซูล จะเป็นถังแก๊สขนาดใหญ่ นิยมติดตั้งบริเวณที่เก็บของในฝากระโปรงท้าย หรือในรถยนต์บางรุ่นอาจใส่ไว้ในตำแหน่งยางอะไหล่ใต้ท้องรถ สามารถจุแก๊สได้เยอะ แต่จะเสียพื้นที่เก็บสัมภาระไปบ้าง โดยถังแบบแคปซูลจะมีราคาที่ต่ำกว่าถังแบบโดนัท
LPG Gas Tank
ถังแก๊สแบบ “แคปซูล” จะสามารถจุเชื้อเพลิงได้เยอะกว่า แต่จะเสียพื้นที่เก็บของ
  • ถังโดนัท จะเป็นถังแก๊สทรงกลม จะนิยมติดตั้งในช่องยางอะไหล่บริเวณฝากระโปรงท้ายหรือบริเวณใต้ท้องรถ มักจะมีขนาดที่เล็กกว่าถังแบบแคปซูล โดยข้อดีของถังชนิดนี้คือ จะไม่เสียพื้นที่เก็บของและดูเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่ถังแบบโดนัทจะมีราคาที่สูงกว่าถังแบบแคปซูลเช่นกัน
ถังแก๊สแบบโดนัท ที่ติดตั้งบริเวณหลุมยางอะไหล่ จะไม่เสียพื้นที่เก็บของบริเวณฝากระโปรงท้าย

 

ถังโดนัท – ถังแคปซูล แบบไหนปลอดภัยกว่ากัน ?

หากพูดถึงการเกิดอุบัติเหตุ หลายๆคนมีความสงสัยว่า ถังโดนัท กับ ถังแคปซูล แบบไหนมีความปลอดภัยมากกว่ากัน ซึ่งก็ต้องบอกตรงนี้เลยครับว่า ถังแบบแคปซูล จะมีความปลอดภัยมากกว่าถังแบบโดนัท เนื่องจากตำแหน่งการติดตั้งของ “ถังแคปซูล” นิยมติดตั้งบริเวณด้านในสุดของที่เก็บสัมภาระด้านหลัง ในขณะที่ “ถังแก๊สแบบโดนัท” จะติดตั้งบริเวณหลุมยางอะไหล่ ซึ่งหากเกิดการชนจากทางด้านท้ายรถ “ถังแก๊สแบบโดนัท” ซึ่งอยู่ใกล้กับกันชนท้ายมากกว่า ก็อาจมีความเสี่ยงในการได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรง มากกว่าถังแบบแคปซูลนั่นเอง

 

ติดแก๊สแล้วเครื่องพัง โทรมไวกว่าปกติ จริงหรือไม่ ?

หลายๆคนบอกว่า การติดแก๊ส LPG จะทำให้เครื่องยนต์พัง โทรม หรือมักจะมีปัญหากวนใจ ซึ่งหากถามว่าจริงหรือไม่ก็ต้องตอบว่า “จริงบางส่วนครับ” เนื่องจากความร้อนในการเผาไหม้ของระบบแก๊สนั้นสูงกว่าน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้การสึกหรอของเครื่องยนต์นั้นเกิดขึ้นได้มากกว่า ซึ่งการเลือกใช้น้ำมันเครื่องที่มีคุณภาพสูง หรือน้ำมันเครื่องที่ออกแบบมาสำหรับรถที่ติดแก๊สโดยเฉพาะ รวมถึงการติดตั้งและจูนแก๊สที่ได้มาตรฐานโดยช่างผู้เชี่ยวชาญ ก็จะช่วยให้รถยนต์ของคุณมีความคงทนมากยิ่งขึ้น

 

อยาก “ติดแก๊ส” ต้องเตรียมเงินไว้เท่าไหร่ ?

ในปัจจุบัน (ปี 2565) ราคาค่าติดตั้งระบบแก๊ส LPG จะอยู่ที่ราวๆ 18,000-40,000 บาท  สำหรับรถเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบทั่วไป (ขึ้นอยู่กับคุณภาพของชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่เลือกใช้) ซึ่งถ้าหากเป็นเครื่องยนต์ที่ใช้ระบบหัวฉีดตรง (GDI และ T-GDI) รวมถึงรถยนต์ที่่ใช้ 2 หัวฉีดต่อ 1 สูบ และรถยนต์ที่มีลูกสูบมากกว่า 4 ลูกสูบ ก็จะมีราคาค่าติดตั้งที่สูงขึ้นไปอีกนั่นเอง

 

จุดคุ้มทุนของการ “ติดแก๊ส” อยู่ที่ตรงไหน ?

หลายๆคนบอกว่า ถ้าตัวเองใช้รถน้อย นำรถไปติดแก๊สจะคุ้มหรือไม่ เราขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆดังนี้ครับ

นาย A ใช้รถยนต์เฉลี่ยปีละ 20,000 กิโลเมตร รถยนต์ของนาย A มีอัตรากินน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 12 กิโลเมตรต่อลิตร

หากคำนวนจากราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ซึ่งมีราคาจำหน่ายอยู่ที่ 44.65 บาท รถยนต์ของนาย A จะต้องเสียค่าน้ำมันต่อ 1 กิโลเมตรอยู่ที่ 3.72 บาท ซึ่งหากคำนวนต่อ 1 ปีที่วิ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 20,000 กิโลเมตร นาย A จะต้องเสียค่าน้ำมันต่อปีอยู่ที่ 74,400 บาท

หากนาย A นำรถยนต์ไปติดแก๊ส ซึ่งมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 30,000 บาท และใช้งานในลักษณะเดียวกันคือ วิ่งเฉลี่ยปีละ 20,000 กิโลเมตร และมีอัตรากินน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 12 กิโลเมตรต่อลิตร 

โดยปกติแล้วแก๊สจะมีอัตราบริโภคเชื้อเพลิงมากกว่าน้ำมันเบนซินทั่วไป (โดยปกติระยะทางที่วิ่งได้ต่อการใช้แก๊ส LPG 1 ลิตร จะอยู่ที่ประมาณ 80-90% ของน้ำมันเชื้อเพลิงปกติ ขึ้นอยู่กับคุณภาพของอุปกรณ์ที่ติดตั้ง และการปรับจูนของช่าง)

ซึ่งหากคิดอัตราการกินแก๊สกับน้ำมันที่ 80% รถของนาย A จะมีอัตรากินแก๊ส LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 9.6 กิโลเมตรต่อลิตร

หากคำนวนจากราคาแก๊ส LPG วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ซึ่งมีราคาจำหน่ายอยู่ที่ราวๆ 13 บาทต่อลิตร (ราคาแก๊ส LPG ไม่มีกำหนดตายตัว ขึ้นอยู่กับสถานีบริการนั้นๆ) รถยนต์ของนาย A จะต้องเสียค่าแก๊ส LPG ต่อ 1 กิโลเมตรอยู่ที่ 1.35 บาท ซึ่งหากคำนวนต่อ 1 ปีที่วิ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 20,000 กิโลเมตร นาย A จะต้องเสียค่าแก๊ส LPG ต่อปีอยู่ที่ 27,000 บาท

หากเปรียบเทียบระหว่างการใช้น้ำมันและแก๊สจะเห็นได้ว่า ค่าใช้จ่ายในการเติมแก๊ส LPG ลดลงไปเหลือเพียงแค่ 1 ใน 3 ของการใช้น้ำมันเท่านั้น (เติมน้ำมัน 1 ปี = 74,400 บาท / เติมแก๊ส LPG 1 ปี = 27,000 บาท) ซึ่งนาย A จะคืนทุนค่าติดตั้งระบบแก๊ส 30,000 บาทตั้งแต่ปีแรก

 

ดังนั้นจุดคุ้มทุนของรถยนต์ที่ใช้แก๊สนั้น คุณจะต้องใช้รถยนต์ในปีๆหนึ่งมากพอสมควร (10,000 กิโลเมตรขึ้นไป) รวมถึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องต่างจากแก๊สมากกว่า 50% จึงจะคุ้มค่าในการติดแก๊ส

 

ติดแก๊สแล้ว ประกันตัวรถจะ “สิ้นสุด” หรือไม่ ?

เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่คนใช้รถหลายคนยังคงเป็นกังวล ว่าถ้าหากนำรถยนต์ไปติดแก๊สแล้ว ทางบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จะสิ้นสุดการรับประกันหรือไม่ ซึ่งคำตอบก็คือใช่ครับ แต่ประกันจะสิ้นสุดเฉพาะในส่วนของเครื่องยนต์และอุปกรณ์ส่วนควบที่เกี่ยวข้องเท่านั้น การรับประกันส่วนอื่นๆของตัวรถจะยังคงอยู่เช่นเดิม ดังนั้นหากใครที่พึ่งถอยรถป้ายแดงมาใหม่ เรายังคงแนะนำให้คุณใช้น้ำมันปกติไปสักระยะหนึ่ง เพื่อตรวจสอบว่าเครื่องยนต์นั้นมีความผิดปกติอย่างไรบ้าง

 

ไม่ใช่รถยนต์ทุกคัน ที่สามารถ ติดแก๊ส ได้

รถยนต์บางรุ่นสามารถติดแก๊สได้โดยที่ไม่ต้องดูแลรักษามากนัก โดยเฉพาะรถที่ใช้เครื่องยนต์ระบบวาล์วไฮดรอลิก  คุณแทบจะไม่ต้องตั้งวาล์วเลยตลอดอายุการใช้งาน ในขณะที่รถยนต์บางรุ่นที่ยังใช้การตั้งวาล์วแบบมาตรฐาน  การติดแก๊สอาจจะทำให้คุณต้องตั้งวาล์วบ่อยมากยิ่งขึ้น รวมถึงการออกแบบเครื่องยนต์ในรถบางรุ่น มีความสามารถในการทนแก๊สที่ต่ำ จึงอาจทำให้เครื่องยนต์ของคุณได้รับความเสียหายได้ ดังนั้นควรศึกษารุ่นรถยนต์ที่คุณใช้ว่าเหมาะสมสำหรับการใช้พลังงานทางเลือกหรือไม่

 

ควรสลับใช้งาน “น้ำมัน” เป็นระยะ ไม่ใช้แต่แก๊สเพียงอย่างเดียว

หลายๆคนที่ติดตั้งแก๊สมานั้น เลือกที่จะใช้ “แก๊ส” เพียงอย่างเดียวโดยที่ไม่มีการสลับมาใช้ “น้ำมัน” ซึ่งหากคุณติดตั้งระบบแก๊สที่ได้มาตรฐาน ตัวกล่องควบคุมจะสลับไปใช้น้ำมันตอนสตาร์ทโดยอัตโนมัติ และจะสลับไปใช้แก๊สเมื่อเครื่องยนต์มีอุณหภูมิสูงเพียงพอ หรือรอบเครื่องยนต์สูงจนถึงจุดที่กำหนด ซึ่งหากรถยนต์ของคุณไม่มีระบบนี้ เราขอแนะนำให้สตาร์ทรถด้วยน้ำมัน รวมถึงควรสลับใช้น้ำมันเป็นระยะ เมื่อเดินทางไกลทุกๆ 100-200 กิโลเมตร

 

สรุปข้อดี-ข้อเสีย ของการ ติดแก๊ส รถยนต์ !!

ข้อดี

  • ประหยัดค่าใช้จ่าย เนื่องจากราคาต่อลิตร ถูกกว่าน้ำมันเชื้อเพลิงถึง 3 เท่า (เปรียบเทียบราคาวันที่ 1 มิถุนายน 2565)
  • แก๊ส LPG ปล่อยมลพิษไอเสียน้อยกว่าน้ำมันเชื้อเพลิง

ข้อเสีย

  • รถที่ใช้แก๊ส ต้องได้รับการดูแลรักษาที่มากกว่าปกติ เพราะมีอุปกรณ์ส่วนควบเพิ่มขึ้นมาได้แก่ หม้อต้มแก๊ส รางหัวฉีด ถังแก๊ส เป็นต้น
  • รถอาจเกิดความเสียหาย หากได้รับการติดตั้งจากช่างที่ไม่ได้มาตรฐาน
  • เครื่องยนต์เสื่อมสภาพไวกว่ารถที่ใช้น้ำมัน
  • ราคาขายต่อมือสอง จะต่ำกว่ารถยนต์ที่ไม่ได้ติดแก๊ส

 

อย่างไรก็ตาม เราอยากให้ท่านที่สนใจใช้พลังงานทางเลือกศึกษาข้อมูลให้ละเอียดและถี่ถ้วน และตัดสินใจให้ดีก่อนนำรถไปติดตั้ง เพราะมีทั้งข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันไป

 

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : car.kapook.com / springnews.co.th / tidlor.com / bangkokbiznews.com / prachachat.net / freepik.com / autocar.co.uk / stargassrl.com

 

รับชมเกร็ดความรู้เรื่องยานยนต์อื่นๆเพิ่มเติม คลิกที่นี่

รับชมคลิปวีดีโอทดสอบรถของเรา คลิกที่นี

บทความที่น่าสนใจ

ป้ายทะเบียนหายลอยไปกับน้ำท่วมขอใหม่ง่ายนิดเดียว

idiot

29 สิ่งที่คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดเกี่ยวกับรถยนต์

idiot

เผยผลการศึกษา 2 ใน 3 ของผู้ขับขี่ในสหรัฐฯ กลัวที่จะนั่งรถยนต์ไร้คนขับ

idiot

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy