รถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน เรียกได้ว่าเป็นผู้เล่นที่สำคัญในตลาด และเข้ามาสร้างแรงกระเพื่อมและสร้างความเปลี่ยนแปลงในวงการยานยนต์ของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ทั้งดีไซน์ภายนอกและภายในที่ดูสวยงาม, ออปชันและฟีเจอร์ของตัวรถที่ใส่มาแบบจัดหนักจัดเต็ม รวมถึงราคาขาย โปรโมชั่น และสิทธิประโยชน์ที่ดึงดูดเงินจากกระเป๋าลูกค้าชาวไทยไปได้ไม่น้อยเลย
หากดูสถิติยอดจองรถยนต์ในงาน Motor Show 2024 ที่ผ่านมาจะพบว่า แบรนด์รถยนต์ที่มียอดจองสูงที่สุดภายในงาน 10 อันดับแรก มีแบรนด์รถยนต์จากประเทศจีนติดอันดับ Top 10 อยู่มากถึง 5 แบรนด์ด้วยกัน และไม่น่าเชื่อว่าแบรนด์ รถยนต์ไฟฟ้า เบอร์ 1 ของประเทศจีนอย่าง BYD จะสามารถทำยอดจองภายในงานได้มากถึง 5,345 คัน คิดเป็นยอดจองสูงสุดอันดับที่ 2 ของงาน โดยเป็นรองแค่ Toyota ที่กวาดยอดจองไปได้ 8,540 คัน และสามารถแซงหน้าแบรนด์รถยนต์ชั้นนำอย่าง Honda ซึ่งสามารถกวาดยอดจองภายในงานไปได้ 4,607 คัน
ประเทศไทย ถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่แบรนด์รถยนต์จากประเทศจีนเข้ามาทำตลาดอย่างจริงจัง และเริ่มมีการตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศไทย เพื่อผลิตรถยนต์สำหรับขายในประเทศ รวมถึงส่งรถยนต์ออกขายในต่างประเทศอีกด้วย โดยในปี 2024 นี้ แบรนด์รถยนต์จากประเทศจีนได้เริ่มทยอยผลิตรถยนต์ในประเทศไทย ยกตัวอย่างเช่น Neta และ Great Wall Motor (ORA) ที่เริ่มเดินสายการผลิตรถยนต์ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2024 ที่ผ่านมา รวมถึงในช่วงกลางปีนี้ GAC AION แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าอันดับ 2 ของประเทศจีนก็จะเริ่มเดินสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่โรงงานในจังหวัดระยองด้วยเช่นกัน ซึ่งหลายๆ คน ต่างมีความหวังว่าการเข้ามาผลิตรถยนต์ จะทำให้เกิดการจ้างงาน รวมถึงมีการใช้ซัพพลายเชนในประเทศไทย ส่งผลจะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศ
แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญบางส่วนได้ออกมากล่าวว่า การเข้ามาใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์นั้น อาจจะมีลักษณะคล้ายกับ “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” หรือพูดง่ายๆก็คือ จะมีการนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศ และแทบจะไม่มีการจ้างงานคนในประเทศเลย ซึ่งในบทความนี้เราจะมาวิเคราะห์ว่า คำกล่าวข้างต้นนี้จะเป็นความจริงหรือไม่ และประเทศไทยจะได้ประโยชน์อะไรบ้างจากการตั้งโรงงานผลิตในครั้งนี้
ผลิตรถยนต์ด้วยหุ่นยนต์ ทำให้ไม่เกิดการจ้างงาน
เริ่มกันที่ประเด็นแรกนั่นก็คือ โรงงานผลิตรถยนต์จีนในประเทศไทย ส่วนมากมักจะใช้ “หุ่นยนต์” ในการประกอบแทบทั้งหมด ส่งผลให้เกิดการจ้างงานที่ต่ำ ซึ่งในประเด็นนี้หากย้อนกลับมาดูบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่นที่ตั้งโรงงานในประเทศไทยกันอย่างคับคั่ง ก็น่าจะใช้หุ่นยนต์ในการผลิตเช่นเดียวกัน แต่เราก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า การจ้างงานในโรงงานประกอบรถยนต์จีน อาจมีการจ้างงานในอัตราที่ต่ำกว่าโรงงานผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น เนื่องจากเทคโนโลยีที่ “อาจจะ” มันสมัยกว่า (เพราะโรงงานพึ่งสร้างและพึ่งเริ่มเดินสายการผลิต) ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานคน เท่ากับโรงงานผลิตรถยนต์รุ่นเก่านั่นเอง
ไม่จ้างแรงงานคนไทย แต่จะจ้างแรงงานจากประเทศจีน
ในประเด็นการจ้างแรงงานนั้น ในมุมมองของผู้เขียนคิดว่าทางบริษัทรถยนต์จีนไม่มีความจำเป็นที่จะต้องนำแรงงานจากประเทศจีนเข้ามาในประเทศไทย เนื่องจากค่าแรงจ้างงานในประเทศจีนนั้นสูงกว่าประเทศไทยอยู่มากพอสมควร ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่จบปริญญาตรีในประเทศจีน จะมีรายได้เฉลี่ยเริ่มต้นอยู่ที่ 5,000 – 6,000 หยวน หรือคิดเป็นเงินไทยที่ 25,000 – 30,000 บาท (หากจบมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง และเป็นสายงานเฉพาะทาง เรทเงินเดือนเริ่มต้นจะสูงขึ้นได้มากถึงเกือบ 1 เท่าตัว) ซึ่งหากเปรียบเทียบกับค่าแรงของคนไทยจะพบว่ามีราคาที่ต่ำกว่าเกือบครึ่ง และแรงงานไทยค่อนข้างมีชื่อเสียงในด้านของ “ฝีมือและความปราณีตในการผลิต” ที่ดีกว่าแรงงานชาวจีน
7 บริษัท EV จีน ยืนยันใช้ชิ้นส่วนในประเทศไทย สูงสุดถึง 90 เปอร์เซ็นต์
หลายๆ คนตั้งข้อสงสัยว่า หาก รถยนต์ไฟฟ้า จากประเทศจีนเข้ามาผลิตที่ประเทศไทย จะมีการนำเข้าชิ้นส่วนจากประเทศจีนด้วยหรือไม่ ล่าสุดสำนักข่าว The Standard ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า 7 ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่จากจีนได้แก่ BYD, GAC AION, GWM, Neta, MG, Changan และ Cherry ในเวทีเสวนา “BOI Symposium: EV Supply Chain” ว่า พวกเขามีแผนที่จะยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และร่วมมือกับผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงสำหรับใช้ประกอบรถยนต์ในประเทศไทย และมีโอกาสที่จะใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศสูงสุดถึง 90 เปอร์เซ็นต์ในอนาคตอีกด้วย
จะเห็นได้ว่าการเข้ามาของบริษัทรถยนต์จีน ที่จะเข้ามาใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต น่าจะเกิดประโยชน์กับประเทศไทยอยู่มากพอสมควร ทั้งในเรื่องของการจ้างงาน รวมถึงการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศไทย สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินในประเทศไทยมากพอสมควร และในอนาคตคาดว่าจะมีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยเพิ่มเติมอย่างแน่นอน
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : thestandard.co / thairath.co.th / workpointtoday.com