fbpx

ลอง!! BYD E6 รถ(ยนต์)ไฟฟ้ามาแล้วนะเธอ

BYD คือเจ้าของแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV จากประเทศจีน ที่วันนี้เทคโนโลยีรถ EV กำลังเป็นเทคโนโลยีที่กำลังถกเถียงกันอย่างมากในอุตสาหกรรมรถยนต์ระดับโลก ว่าเป็นอนาคตของอุตสาหกรรมรถยนต์ของโลกหรือไม่ และอนาคตนั้นจะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ หรือเป็นอนาคตที่ยังไม่เห็นฝั่งฝันก็ตาม แต่ในวันนี้ BYD ได้ประกาศตัวอย่างชัดเจนว่าจะเข้ามาสร้างตลาดรถ EV ในบ้านเรา

ในไทยเอง แบรนด์รถยนต์ BYD นั้นทำตลาดโดยบริษัท บริษัท ไรเซน เอนเนอร์จี จำกัด ซึ่งประกาศเอาจริงเอาจังกับการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ BYD ในบ้านเราอย่างจริงจัง

โดย BYD จะประเดิมเปิดตลาดรถไฟฟ้าในประเทศไทยด้วยรถยนต์แท็กซี่ขนาดใหญ่ในรุ่น BYD e6 โดยจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการภายในปีนี้ ผ่านบริการในชื่อว่ารถแท็กซี่ VIP

เราไปดูกันดีกว่าว่าเจ้า รถแท็กซี่ VIP คันนี้ มีดีพอที่จะก้าวเข้ามาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้บริโภคชาวไทยหรือไม่

เริ่มจากรูปร่างหน้าตาของ BYD e6 ที่บอกได้ว่าไม่ได้โดดเด่นในเรื่องของความสวยงาม ก็ต้องเข้าใจว่ารถคันนี้เน้นใช้งานเป็นรถแท็กซี่ ไม่ใช่สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลดังนั้นการออกแบบจึงเป็นแบบแข็งๆ มากกว่าการเน้นเส้นสายในการออกแบบมากนัก ประกอบกับเจ้า BYD e6 คันนี้นั้นเป็นรถที่ผลิตออกมาเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ทำให้รูปร่างหน้าตาไม่ค่อยจะทันสมัยเท่าไหร่

แต่อย่าประมาทนะครับว่า ผลิตมาแล้ว 5 ปี แต่ BYD e6 นี้ถูกส่งออกไปเป็นรถแท็กซี่ไฟฟ้าทั่วโลกแล้วกว่า 46,500 คันนะครับ

หน้าตาของ BYD e6 นั้นเป็นเหมือนกับรถMPV ขนาด 5 ที่นั่ง มีแถวนั่งแค่ 2 แถวเท่านั้นไม่มีที่แถว 3 มีมิติขนาด 4,560 x 1,822 x 1,645 มม. (ยาว x กว้าง x สูง) ฐานล้อกว้าง 2,830 มม.ถ้าเทียบให้เห็นภาพก็คือขนาดรูปร่างใกล้เคียงกับ โตโยต้า อีโนวา นั่นแหละครับ นั่นหมายความว่าเจ้า BYD e6 นั้นเรื่องของพื้นที่การใช้สอยภายในรถมากกว่าการขายความสวยงามของหน้าตา

นอกจากนี้ ฟังก์ชั่นการใช้งานต่างๆของ BYD e6 นั้นไม่ได้ทันสมัยมากมายอะไรนัก ถือว่าจะติดล้าสมัยหน่อยๆด้วยซ้ำเมื่อเทียบกับราคาที่อยู่ที่ 1.89 ล้านบาท ซึ่งถือว่าแพงเอาการอยู่เหมือนกัน

เดินดูรอบๆ คันพบว่าไฟหน้าเป็นแค่ Projector พร้อม Daytime running light แบบ LED มีไฟเลี้ยวที่กระจกมองข้างให้ด้วย ล้อแม็กซ์ 5 ก้าน ขนาด 17 นิ้ว พร้อมยางขนาด 225/65 R17 หรือมันคือขนาดยางของรถกระบะนั่นเอง มีเซ็นเซอร์ทั้งด้านหน้า-หลัง มาช่วยกะระยะให้กับผู้ขับขี่ด้วย

ฝาท้ายด้านหลังขนาดใหญ่ แถมหนักเสียด้วยเวลาเปิด ไม่มีระบบเปิดฝาท้ายด้วยไฟฟ้า แต่เมื่อเปิดฝาท้ายไปแล้วจะพบกับพื้นที่เก็บสัมภาระด้านท้ายขนาดใหญ่ เหมาะที่จะเก็บกระเป๋าเดินทางใบบิ๊กๆได่้อย่างสบาย ก็หมายความว่าการเน้นใช้เป็นแท็กซี่ VIP น่าจะเหมาะแล้ว ถ้าไปใช้สำหรับรับ-ส่งผู้โดยสารไปสนามบิน

ก้าวเข้าไปดูในห้องโดยสารของ BYD e6 ผมขอไปนั่งที่นั่งผู้โดยสารก่อนแล้วกัน ที่นั่งกว้างขวางเอาการ แต่วัสดุอุปกรณ์อย่างเบาะนั่ง ยังดูแปลกๆ ไม่ค่อยคุ้มกับราคาเท่าไหร่นัก ยังไม่มีช่องเชื่อมต่อช่องเสียบ USB หรือ POWER OUTLET ให้กับผู้โดยสารตอนหลัง ซึ่งผมว่าน่าจะต้องปรับปรุงในจุดนี้นะ

ขยับตำแหน่งมาที่ตำแหน่งผู้ขับ ไล่สายตาไปตามคอนโซลหน้า จะไม่มีมาตรวัดอยู่ด้านหลังพวงมาลัยเหมือนกับรถทั่วไป แต่มาตรวัดและจอแสดงผลจะอยู่บนคอนโซลกลางด้านหน้า ซึ่งจะประกอบไปด้วยแผงมาตรวัดด้านหน้าขนาดใหญ่ บอกมาตรวัดความเร็ว ปริมาณของแบตเตอรี่ ตำแหน่งเกียร์ ระยะทางที่วิ่งได้ ถือว่าพอเพียงครับ และตัวอักษร ตัวเลขทั้งหลายยังมีขนาดใหญ่เบ้อเริ่มเทิ่มอีกด้วย

พวงมาลัยของ BYD e6 เป็นมัลติฟังก์ชั่น มีปุ่มบังคับเครื่องเสียงและระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบปกติ ขนาดของพวงมาลัยใหญ่ไปนิด แต่ไม่ใช่ปัญหาอะไรใหญ่โตนักครับขับไปสักพักก็ชินแล้ว ไล่สายตาไปที่คอนโซลกลาง ก็จะเห็นหน้าจอแสดงผลขนาดใหญ่

ขณะที่คอนโซลกลางเป็นที่ตั้งของวิทยุที่เป็นรุ่นเก่าไม่มีจอแสดงผลอะไร มีแต่หน้าจอขนาดเล็กที่บอกตำแหน่งของช่องวิทยุที่เราเปิดฟังอยู่ มีช่องใส่ CD มาให้ ไม่มีระบบการเชื่อมต่อ USB เข้ากับสมาร์ทโฟนได้ และแน่นอนว่าไม่มีระบบบลูทูธเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนของเราได้เช่นกัน ยังดีที่ระบบปรับอากาศเป็นแบบอัตโนมัติ นั่นคือฟังก์ชั่นที่แสนน้อยชิ้นของ BYD e6

เรามาพูดถึงเรื่องการลองขับ และการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าคันนี้กันดีกว่าว่าใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวันได้หรือไม่

BYD e6 คันนี้ มาพร้อมแบตเตอรี่ Iron-Phosphate หรือ Fe Battery ที่สามารถเก็บไฟได้มากถึง 80 กิโลวัตต์/ชั่วโมง ซึ่งเป็นแบตเตอรี่ที่มีขนาดความจุของไฟมากที่สุดในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าบ้านเรา

แบตฯขนาด 80 กิโลวัตต์นี้ สามารถขับได้ไกลกว่า 320 กิโลเมตรต่อการชาร์จไฟหนึ่งครั้ง ซึ่งการคำนวณว่าแบตเตอรี่ 1 ลูกจะมีระยะการใช้งานไกลแค่ไหน ให้เอาจำนวนกิโลวัตต์ของแบตเตอรี่ x ด้วย 4.5 ตัวเลขที่ได้มา จะเป็นระยะทางที่รถคันนั้นวิ่งได้

สำหรับการชาร์จ BYD e6 คันนี้หากใช้การชาร์จแบบ VTOG 40kW จะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง แต่เจ้าแท่นชาร์จแบบ VTOG 40kW ไม่ได้หากันง่ายๆ นะครับ จะมีก็แต่ที่สำนักงานของบริษัท ถนนวิภาวดี และที่บริษัท อีวี โซไซตี้ จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจแท็กซี่วีไอพี ที่จะมีสถานีชาร์จที่ปล่อยกระแสไฟที่แรงขนาด 40kW ไว้ที่อู่รถ

แต่หากเป็นสถานีชาร์จไฟทั่วไปที่เราเห็นอยู่ตามห้างสรรพสินค้า และช้อปปิง มอลล์ ทั้งหลายในแบรนด์ EA Anywhere นั้นจะปล่อยกระแสไฟที่ 20kW เท่านั้นครับ เพราะสถานีชาร์จนี้ใช้ร่วมกับรถปลั๊กอินไฮบริด ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น เมอร์เซเดส เบนซ์ ,บีเอ็มดับเบิลยู และวอลโว่ ที่ต้องการกำลังไฟฟ้าเพียง 20Kw เท่านั้ ส่วนถ้าชาร์จไฟบ้านแบบปกติ ก็ทิ้งไว้เลยทั้งคืนครับ คือ 8 ชั่วโมงมีให้เห็นแน่นอน

ชาร์จไฟ รถไฟฟ้า ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันหรือไม่

ถ้าเป็นรถ BYD e6 ในโครงการแท็กซี่ VIP ก็ไม่น่ามีปัญหาเพราะมีสถานีชาร์จไฟแรงอยู่ที่อู่รถอยู่แล้ว รถวิ่งให้บริการเสร็จก็มาชาร์จไฟ 2 ชั่วโมง แบตฯเต็ม ไปวิ่งได้อีก 300 กิโลเมตรไม่มีปัญหา

แต่ถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดาที่ไม่ได้ใช้รถคันนี้เป็นแท็กซี่ล่ะ น่าจะต้องพิจารณานิดครับ ต้องคิดให้ดีๆ เรามีเวลาชาร์จไฟให้กับรถของเราแค่ไหนในแต่ละวัน ถ้าเรามีเวลาชาร์จไฟ 8 ชั่วโมงทุกๆ 2 วันไม่มีปัญหา หรือถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินก็สามารถไปชาร์จได้ที่สถานีชาร์จไฟของ EA แต่ๆ นะครับแต่ต้องให้เวลากับการชาร์จไฟนะครับ เพราะต้องใช้เวลาชาร์จอย่างน้อยที่ 60 นาที เสียค่าไฟ 50 บาท ได้ระยะทางแค่ 50 กิโลเมตรเท่านั้นนะครับ

หากต้องการไฟมากกว่านั้นก็ต้องใช้เวลา 120 นาที ค่าไฟ 80 บาท วิ่งได้ 120 กิโลเมตรเท่านั้น 180 นาที 110 บาท 240 นาที 150 บาท นั่นคือ 4 ชั่วโมงกับการชาร์จไฟเต็มแบตฯ ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องยากที่เราจะไปชาร์จไฟจนเต็ม กับสถานีชาร์จที่ EA ตั้งไว้เนื่องจาก สถานีชาร์จส่วนใหญ่ อยู่ในแหล่งเดินเที่ยวหรือร้านอาหาร ดังนั้นการชาร์จในสถานที่เหล่านี้ น่าจะเป็นแค่การชาร์จแบบชั่วคราวเท่านั้นเอง การชาร์จหลักยังต้องเป็นที่บ้านอยู่ดี ขับดีพอใช้ได้ ประหยัดกว่าน้ำมันเยอะ

มาลองในเรื่องของการขับกันบ้าง ถ้าผู้บริหารของ BYD บอกว่ารถคันนี้เน้นเรื่องการใช้งาน ไม่เน้นฟังก์ชั่นต่างๆ ภายในรถมากนัก ส่วนหนึ่งก็เพราะต้องการให้ราคารถยนต์คันนี้ต่ำที่สุด ให้ออปชั่นเท่าที่จำเป็นพอ

กดปุ่ม push start ไม่มีเสียงเครื่องยนต์ดังขึ้นมาให้รำคาญใจ มีเพียงหน้าปัดด้านหน้ารถเท่านั้นที่ติดขึ้นพร้อมเสียง ตุ๊กติ๊กๆ และตัวอักษรคำว่า READY ขึ้นมา ก็หมายความว่ารถพร้อมแล้วครับ

BYD e6 ตัวนี้มีมอเตอร์ไฟฟ้าให้กำลังสูงสุดที่ 121 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 450 นิวตันเมตร ทำความเร็วสูงสุดได้ 140 กม./ชม. ก็ถือว่าไม่ได้มากมายอะไรกับความเร็วสูงสุด แต่ในเรื่องของแรงบิดถือว่ายอดเยี่ยมดีทีเดียว

การเข้าเกียร์ของ BYD e6 นั้นตัวเกียร์เป็นระบบไฟฟ้า ทำให้มีตำแหน่งเกียร์เพียงแค่ 3 ตำแหน่งเท่านั้นคือ เกียร์ว่าง (N) เกียร์เดินหน้า (D) ถอยหลัง (R) เท่านั้น โดยวิธีเข้าเกียร์ในแต่ละตำแหน่งก็ง่ายๆครับ ถ้าจะเดินหน้าก็ดึงคันเกียร์เข้าหาตัวแล้วดึงลง ถ้าจะถอยหลังก็ ดึงคันเกียร์เข้าหาตัวแล้วดันขึ้น แต่ถ้าจะเข้าเกียร์ว่างก็ดึงคันเกียร์เข้ามาตัวเฉยๆ ก็ได้แล้ว ส่วนเกียร์ P นั้่นใช้ดึงปุ่มที่ิิอยู่ตรงคอนโซลระหว่างผู้ขับขี่ และผู้โดยสารตอนหน้าขึ้นก็เป็นเสร็จพิธี

และที่สำคัญ BYD e6 นั้นเวลาจอดรถทิ้งไว้ต้องเข้าเกียร์ P เท่านั้นครับไม่สามารถเข้าเกียร์ว่างได้ ทำให้การหาที่จอดให้กับ BYD e6 ค่อนข้างวุานวายเอาการเหมือนกับรถยุโรปเลยทีเดียว

เข้าเกียร์ D แล้วเหยียบคันเร่งกันเลย โดยโหมดแรกที่ผมขับคือ โหมด ECO ซึ่งโหมดการขับมีให้เลิือก 2 โหมดคือ ECO กับ SPORT เท่านั้น โหมด ECO ให้ความรู้สึกที่ดีไ่ม่น้อยทีเดียว เมื่อกดคันเร่งความเร็วของรถที่พุ่งออกไปใช้ได้เลยครับ ไม่มีความรู้สึกอืดอาดให้น่ารำคาญแต่อย่างใด

บอกเลยว่ามอเตอร์ไฟฟ้าของ BYD e6 ให้พละกำลังที่ดีพอตัวเลย โดยเฉพาะการออกตัว และการอัตราเร่งไปจนถึงความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ไม่ได้ยากเย็นอะไรนัก แต่หากเป็นความเร็วช่วงปลายๆ อัตราเร่งก็จะอืดๆ หน่อย แต่หากปรับโหมดมาเป็นโหมด SPORT อัตราเร่งดีขึ้นมากทีเดียว แต่ก็ไม่ถึงขนาดหลังติดเบาะ แต่ก็ต้องแลกกับอัตราการสิ้นเปลืองที่หายไปไม่น้อย

ช่วงล่างออกอาการโยนๆ นิดหน่อย แต่นุ่มนวลใช้ได้เลย เหมาะถ้าใช้สำหรับโดยสาร พวงมาลัยยังไม่ค่อยแม่นยำมากนักโดยเฉพาะการเข้าโค้งที่ความเร็วสูง พวงมาลัยออกอาการเบาๆ หน่อย แต่ก็อย่างว่าครับ รถเน้นการใช้งานในเมืองพวงมาลัยก็ต้องเบาอย่างนี้ ขับในเมืองสบายๆ มุดซ้ายมุดขวาพอได้ ติดอยู่ที่ขนาดของตัวรถใหญ่ไปหน่อย เลยต้องขับแบบไปเรื่อยๆ ซ่ามากไม่ได้

ระบบความปลอดภัยพื้นฐานมีมาครบอย่าง ถุงลมนิรภัย6 ลูก ระบบ ABS, EBD, ESP มาครบครับ แม้ไม่ได้มาก แต่ก็ไม่ได้น้อย

มาพูดถึงเรื่องอัตราสิ้นเปลืองกันบ้าง ไฟเต็มถัง ตามมาตรวัดบอกว่าวิ่งได้ 320 กิโลเมตร ใช้งานจริงวิ่งได้ไม่เกิน 270 กิโลเมตร ถ้าอัดหนักๆ ทำใจได้วิ่งได้ไม่เกิน 250 กิโลเมตร ซึ่งผมถือว่าไม่น้อยนะครับกับไฟเต็มถังกับระยะทางที่ได้ ก็คล้ายๆ กับโทรศัพท์ละครับ 2 วันชาร์จที

ส่วนค่าไฟ ถ้าชาร์จไฟบ้านแบบเต็มๆ คือไฟเหลือในแบต 1 ขีด และชาร์จจนเต็ม ครั้งละไม่เกิน 300 บาท หรือกิโลเมตรละบาท ประหยัดกว่าน้ำมันเยอะครับ แต่ก็ต้องแลกกับค่าเสียเวลาในการชาร์จ

เรื่องนี้ก็ต้องแล้วแต่ผู้บริโภคแล้วละครับว่าจะเลือก ใช้รถแบบใด เอาที่ถนัด หากมองที่ค่าตัว ก็ต้องยอมรับว่าแพงมาก แต่ก็อย่าลืมว่ามันเป็นค่าเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยกว่าในปัจจุบัน แค่ค่าแบตเตอรี่ก็ปาไปครึ่งหนึ่งของค่าตัวรถแล้วครับ

ส่วนตัวผมชอบน่ะกับ รถไฟฟ้า แต่วันนี้ยังไม่ใช่เวลาของเทคโนโลยีในบ้านเรา ต้องรอให้ราคาต่ำลงมากว่านี้อีกสักหน่อย เมื่อถึงเวลานั้นผมไม่แคร์แล้วว่า สถานีชาร์จจะมีมากหรือน้อย ผมชาร์จที่บ้านแล้วไปซิ่งได้ตั้ง 200-300 กิโลเมตร แค่นั้นก็เหลือเฟือแล้ววววว


 

บทความที่น่าสนใจ

New Suzuki Swift GL Plus เพิ่มนิด เติมหน่อย คล่องตัวดี ประหยัดน้ำมันเหมือนเดิม

Admin

ชมภาพคันจริง 2023 Nissan Almera Minorchange ปรับหน้าตา เพิ่มออปชั่น น่าใช้งานแค่ไหน ?

Nopkung

ลอง EMG 6 ปลั๊ก-อิน ไฮบริด 228 แรงม้า สุดยอดเทคโนโลยีของ MG

idiot

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy